ผู้ส่งออกบ่นขาดทุน FX-แข่งขันหนัก โต้ข้อหาเทขายดอลล์/นัดหารือพาณิชย์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2007 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผู้ส่งออกโต้ข้อกล่าวหาหลังจากแบงก์ชาติออกมาระบุว่าเป็นตัวการแห่เทขายดอลลาร์ซ้ำเติมสถานการณ์บาทแข็งค่าให้หนักข้อขึ้น  โดยผู้ส่งออกเชื่อว่าไม่มีใครกล้าเสี่ยงขายดอลลาร์ล่วงหน้าในช่วงค่าเงินผันผวน เพราะเกรงจะขาดทุนหนัก ส่วนข้อเสนอให้อาศัยโอกาสบาทแข็งนำเข้าเครื่องจักร เป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก วอนรัฐให้ความช่วยเหลือเรื่องอัตราดอกเบี้ย       
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ เชื่อว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่ได้แห่เทขายเงินดอลลาร์ซ้ำเติมค่าเงินบาท และหากมีการเทขายจริงคงเป็นเพียงผู้ส่งออกรายย่อยเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นในระยะ 2-3 วันนี้ ขณะที่ผู้ส่งออกรายใหญ่จะไม่ดำเนินการเช่นนั้นแน่นอน เพราะยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น
"เรื่องผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์คงไม่ใช่ อาจมีแค่ส่วนน้อย แต่รายใหญ่คงไม่ทำเช่นนั้น เพราะถ้าคุณขายทันทีในช่วงที่ตลาดแกว่งมาก คุณอาจโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยสภาวะความจริงคงไม่มีใครกล้าทำเช่นนั้น น่าจะรอดูสถานการณ์ไปก่อนมากกว่า"นายชูเกียรติ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"ถึงสถานการณ์การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทที่วันนี้เปิดตลาดในระดับ 33.38/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
นายชูเกียรติ กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในระยะนี้เป็นเพราะเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามามาก เนื่องจากมองเห็นโอกาสการทำกำไรจากตลาดหุ้นไทย ในขณะที่ตลาดหุ้นประเทศอื่นในภูมิภาคถึงจุดอิ่มตัวไปแล้ว
"เป็นการไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่า การที่แบงก์ชาติมองเช่นนั้น(ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์)น่าจะเป็นความเข้าใจผิด มันไม่มีเหตุผลมากพอที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าได้มากขนาดนั้น ตอนนี้เงินทุนที่ Flow เข้าสู่ตลาดทุนเราเยอะมากในช่วงนี้ เพราะตลาดที่อื่นมัน peak กันหมด แต่บ้านเรายังน้อยอยู่" นายชูเกียรติ ระบุ
พร้อมเห็นว่า ค่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมต่อการส่งออกของไทยและเหมาะกับภาวะการแข่งขันกับต่างประเทศในขณะนี้ ควรอยู่ที่ประมาณ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินบาทปัจจุบันทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดลง เพราะหากเทียบกับปีที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นถึง 15%
ส่วนที่หลายหน่วยงานแนะให้ผู้ส่งออกใช้โอกาสจากภาวะเงินบาทแข็งค่าในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ตลอดจนลงทุนนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตและส่งออกนั้น นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติแล้วคงไม่สามารถทำได้เช่นนั้น เพราะหากผู้ส่งออกไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ก็ไม่มีประโยชน์หรือความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าสินค้าทุนหรือเครื่องจักรใหม่มาเพิ่มเติม ส่วนการปรับตัวนั้นผู้ส่งออกได้เริ่มทำมานานแล้ว
อย่างไรก็ดี วันพรุ่งนี้(11 ก.ค.) ผู้ส่งออกจะประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และจะหยิบยกปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่เป็นอุปสรรคในการส่งออกให้กระทรวงได้รับทราบ และช่วยผลักดันต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ธปท.และกระทรวงการคลังดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวรวดเร็วเกินไป พร้อมเสนอให้ภาครัฐหามาตรการด้านอัตราดอกเบี้ยเข้ามาช่วยเหลือผู้ส่งออก
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เห็นในทิศทางเดียวกันว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากในระยะนี้ไม่ได้มีสาเหตุจากการเทขายดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออก แต่เป็นการขายตั๋วเงินที่ผู้ส่งออกขายได้รับมาเพื่อนำไปลงทุนหมุนเวียนต่อเนื่อง ไม่ใช่การเทขายดอลลาร์เพราะเกรงว่าแนวโน้มเงินบาทจะยิ่งแข็งค่าลงอีกอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจกัน
"มันจะเทได้อย่างไร วงเงินแบงก์มันต้องมี contract มันเป็น normal transection เราเอาเงินสดไปซื้อของมาผลิต มาจ่ายค่าแรง ค่าหีบห่อ ด้วยเงินสด สุดท้ายพอมีตั๋วในมือ จะให้เก็บไว้เหรอ ลงของแล้วถ้าไม่ขายตั๋ว จะเอาเงินไปหมุนเวียนต่อได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นจะเอาเงินไปซื้อของใหม่ได้อย่างไร" นายพจน์ กล่าว
นายพจน์ กล่าวว่า ภาวะเงินบาทแข็งค่าอาจมีผลทำให้การส่งออกไทยปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 12.5% แต่ทั้งนี้เห็นว่าตัวเลขเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ต้องให้ความสนใจมากนัก แต่ควรให้ความสนใจกับความอยู่รอดของสินค้าเกษตรซึ่งเป็นรากฐานการส่งออกที่สำคัญของไทย และอาจจะได้รับความเสียหายอย่างหนักในระยะยาว พร้อมมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมต่อการแข่งขันด้านการส่งออกในขณะนี้ควรอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
นายอานนท์ สิมะกุลธร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ทำให้ผู้ส่งออกแบกรับภาระสูงจากต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าในช่วงค่าเงินอ่อน แต่เมื่อขายสินค้าและทอนเป็นเงินบาทมูลค่ากลับลดลง
ขณะเดียวกันการขอปรับราคากับผู้ซื้อทำได้ยากมาก เพราะผู้ซื้อจะหนีไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งคือจีนที่เงินหยวนแข็งค่าเพียง 4-5% แทน ขณะที่เงินบาทแข็งค่าถึง 16% ส่วนมาเลเซียและเกาหลีอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าไม่มากเท่าไทย
"ไม่รู้จะทำอย่างไร ลดต้นทุนก็แล้ว แต่บาทก็แข็งค่าต่อเนื่องยิ่งพวกที่มีสัญญาซื้อขายไว้แล้วก็ต้องส่งของตามที่ตกลงแม้จะขาดทุน ส่วนคำสั่งซื้อใหม่ๆ จะเพิ่มราคาก็ไม่ได้ คู่แข่งเรามี ปัญหาค่าเงินบาทที่เราเจอครั้งนี้รุนแรงมาก ส่วนจะหนีไปซื้อขายเงินสกุลอื่นก็ไม่ work เพราะยูโรเทียบบาทแข็งค่า 10% เงินเยน แข็งค่า 10% ไม่ต่างจากดอลลาร์เท่าไหร่" นายอานนท์ กล่าว
นอกจากนี้ มีการคาดว่าปัญหาเงินบาทแข็งค่าในระยะยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีแผนจะลดขนาดตัวเองลง เพื่อยืดหยุ่นการรับคำสั่งซื้อสินค้าให้หลากหลายมากขึ้นแต่ไม่ลดคุณภาพ เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าในราคาที่เหมาะสมต่อไปได้

แท็ก แบงก์ชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ