นายลี กวน ลิว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารเงินและตลาดทุน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)(มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังมีความเชื่อมั่นที่จะมาลงทุนในประเทศไทย หลังจากมีการทำข้อตกลง JTEPA แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเห็นนักลงทุนญี่ปุ่นกลับมาลงทุนได้อย่างชัดเจนในปี 51 หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว
ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ได้กังวลเรื่องมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท หรือปัญหาเงินบาทแข็งค่า เพราะเชื่อว่าเป็นปัญหาระยะสั้นเนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้า
ด้านน.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) กล่าวว่า จากการเดินทางไปโรดโชว์นักลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ชี้แจงนักลงทุนญี่ปุ่นถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อจะดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นให้กลับมา
โดยได้ชี้แจงว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีพื้นฐานที่ดี และเชื่อว่าหลังเลือกตั้งและมีความชัดเจนทางการเมืองแล้วเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วและแรง เนื่องจากพื้นฐานโดยรวมยังดีอยู่ ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงานยังต่ำ ประกอบกับมีความแข็งแกร่งทางการเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 8 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่าหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ ทำให้ไทยสามารถเผชิญกับภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจได้
อีกปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ คือ ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจก็ดีขึ้น มีหนี้น้อยลง สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยโอกาสที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนเมื่อ 10 ก่อนก็น้อยลงด้วย และยังไม่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเกิดภาวะฟองสบู่ เพราะดูจากดัชนีตลาดหุ้นที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 800 จุด ซึ่งต่ำกว่า 1,400 จุดในช่วงวิกฤติเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
น.ส.อุสรา กล่าวอีกว่า ยังได้ชี้แจงถึงทิศทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งว่า เป็นโอกาสที่ควรเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากช่วงการเลือกตั้งจะมีเงินสะพัด และหลังเลือกตั้งจะเกิดการลงทุนตามมาทั้งภาคเอกชนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตส่วนเกินลดต่ำลงมาก และเมื่อความเชื่อมั่นกลับมาแล้ว คงจะมีการขยายกำลังการผลิตกันทันที เพื่อรองรับดีมานด์ที่กำลังจะกลับมา ซึ่งเชื่อว่ากำลังซื้อและการบริโภคจะฟื้นขึ้นได้หลังการเลือกตั้ง
ส่วนในเรื่องของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น น.ส.อุสรา กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาแก้ไขของกทางการ แต่ได้อธิบายว่าการเซ็นสัญญาข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับสิทธิพิเศษ ได้รับข้อยกเว้นบางส่วน และได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกภายใต้ BOI
นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำข้อตกลง JTEPA โดยเฉพาะธุรกิจรถยนต์ ที่จะมีการลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำลง จึงทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น
ขณะที่นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานทั้ง 2 ประเทศกำลังทำงานควบคู่กันไป โดยกระทรวงการคลังของทั้ง 2 ประเทศอยู่ระหว่างการเตรียมการโดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมลดภาษี ขณะที่ทางกระทรวงพาณิชย์เตรียมการออกใบรับรองสินค้า ภายใต้ข้อตกลง JTEPA
นอกจากนี้ จะมีการทำโรดโชว์ที่เชียงใหม่ โคราช หาดใหญ่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนเข้าใจถึงข้อตกลง JTEPA
สำหรับ ธุรกิจที่นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ ด้านกระป๋องที่จะมีการนำเข้าปลาทูน่า เพื่อมาบรรจุในไทยและส่งออกนอกจากพวกอาหารแล้วก็จะเป็นพวกสิ่งทอ ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย โดยภาษีจะเป็น 0% นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมด้านรองเท้า เครื่องหนัง อัญมณี-เครื่องประดับ ยานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ครัวไทยไปสู่โลก ดังนั้นจะเห็นว่าการลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทยน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--