นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค. จะงดแถลงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 และ 2 ปี 2563 เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งตอนนี้กระทรวงการคลังจะใช้ตัวเลขประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ไปก่อน
ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/63 ที่ทางสภาพัฒน์ ประกาศออกมา -1.8% ดูเหมือนน้อย เพราะรัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศและเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 18 มี.ค.63 แต่ในไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะติดลบมากขึ้น ส่วนเป็นเท่าไรต้องรอตัวเลขของสภาพัฒน์ประกาศเป็นทางการ ซึ่งสภาพัฒน์ประมาณการว่า ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5-6% หรือค่ากลางติดลบ 5.5%
"การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมาก สศค. จึงจะใช้ตัวเลขประมาณเศรษฐกิจของ สศช. ไปก่อน และจะดูว่าจะกลับมาแถลงประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจได้เหมือนเดิมเมื่อไร" นายลวรณ กล่าว
ขณะนี้ ทั้งสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง มองเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางเดียวกันว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างมาก ซึ่งทุกแห่งต่างคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 จะติดลบมากที่สุดของปี เพราะมีการล็อกดาวน์ประเทศ ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องปิดดำเนินการ แต่เชื่อว่าไตรมาส 3 และ 4 ของปี 63 จะติดลบน้อยกว่าไตรมาส 2 เพราะเริ่มมีการคลายล็อกทางเศรษฐกิจ
สำหรับกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 0.75% เหลือ 0.50% ต่อปีนั้น เพราะ กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดย กนง. คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 5.3% ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะช่วยพยุงเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการออกมาตรการทางการคลังที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกระทรวงการคลังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังจากที่สถานการณ์การระบาดเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่นั้น นายลวรณ กล่าวว่า แต่ละมาตรการจะต้องดูเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากที่สุด ส่วนข้อเสนอของเอกชนที่เสนอให้กระทรวงการคลังออกมาตรการ "ชิมช้อปใช้" และมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้นั้น สศค. เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม เพราะตอนนี้ยังมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการประกาศเคอร์ฟิว มีการห้ามเดินทาง และการเปิดห้างสรรพสินค้าก็ยังมีข้อจำกัด การออกมาตรการดังกล่าวตอนนี้จึงไม่เกิดผลดีกับเศรษฐกิจ
"การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องใช้ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคลังยืนยันว่าเมื่อการระบาดโควิด-19 คลี่คลาย จะมีมาตรการดูแลเศรษฐกิจออกมาอย่างแน่นอน เพราะยังมีความสามารถทำได้ แต่ยังไม่ดำเนินการตอนนี้เพราะสถานการณ์ยังไม่ปกติ มาตรการที่ดำเนินการช่วงนี้ จึงเป็นมาตรการเยียวยาเป็นหลัก ยังไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายลวรณ กล่าว