นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพอ.(บอร์ด EEC) ครั้งที่ 2/2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า คณะกรรมการ กพอ. ได้อนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ได้บรรลุข้อตกลงการเจรจากับเอกชนร่วมลงทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยเร็วเพื่อลงนามกับเอกชนภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ และจะเร่งส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จภายในปี 2566
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับถึงการก่อสร้างโครงการ จะต้องเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยไม่ให้เกิดการติดขัด พร้อมกับได้ขอกระทรวงการคลังตั้งคณะทำงาน บริหารโครงการก่อสร้าง เพื่อให้ทั้ง 2 โครงการ มีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากไม่ใช่เอกชนรายเดียวกัน
ส่วนกรณีที่บริษัท แอร์บัส ถอนการลงทุนในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพราะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นายคณิศ ยืนยันว่า ขณะนี้มีเอกชน 4-5 รายที่สนใจจะเข้ามาลงทุน ซึ่งจะต้องพิจารณารูปแบบการลงทุนอีกครั้ง โดยจะเป็นการลงทุนร่วมกับ บมจ. การบินไทย (THAI) ซึ่งแม้ว่า THAI จะเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการก็จะไม่กระทบต่อแผนการลงทุน เพราะจากผลการศึกษา THAI ลงทุนในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะเป็นประโยชน์และสร้างผลกำไรในอนาคต เนื่องจาก THAI ไม่ต้องลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมฯ แต่จะลงทุนด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีในการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาตตะวันออก (สพกอ.) จะทำหนังสือแนะนำ (Recomment) ส่งให้ทางคณะกรรมการแผนฟื้นฟูหนี้ THAI ถึงผลการศึกษาเพื่อจะพิจารณาให้เป็นหนึ่งในแผนการฟื้นฟูของ THAI
พล.ร.ต. เกริกชัย วจนาภรณ์ เลขานุการและคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า การคัดเลือกเอกชน คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาอย่างละเอียด ใช้เวลาการเจรจาสัญญาเสร็จสิ้น 1 ปี 6 เดือน มีการเจรจาสัญญาทั้งหมด 19 ครั้ง ใช้เวลา 3 เดือน ต่างจากการเจรจาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ใช้เวลาเจรจา 10 เดือน และการลงทุนในเมืองการบิน เอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งรัฐบาลได้ประเมินรายได้จากสนามบินอยู่ที่ 305,555 ล้านบาท เมื่อหักจากคืนเงินงบประมาณที่นำมาลงทุนสร้างรางรถไฟความเร็วสูงก่อนหน้านี้ จะมีรายได้เหลือ 188,328 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนในอนาคต
ด้านนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการสายงานโครงสร้างพื้นฐาน สพกอ. ระบุว่า การสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานยังเป็นไปตามแผนเดิม ที่ได้เตรียมแผนกับ THAI ไว้ตั้งแต่ปี 2561 ในการย้ายศูนย์ซ่อมของ THAI มาในพื้นที่ของกองทัพเรือ (ทร.) ซึ่ง THAI จะไม่ต้องลงทุนก่อสร้าง แต่จะลงทุนด้านอุปกรณ์ เทคโนโลยี
ส่วนการที่แอร์บัสถอนการลงทุน ก็จะจัดหาผู้ลงทุนรายอื่นมาแทน ขณะนี้คงต้องรอให้ดูแผนการฟื้นฟูของ THAI อีกครั้ง แต่มองว่าการลงทุนศูนย์ซ่อมจะเป็นประโยชน์ต่อ THAI ในอนาคต