สมาคมนิสิตเก่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา PETRA TALK ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "SME เกือบตายแต่ไม่ตาย กระเสือกกระสนและโตได้ในยุค COVID-19" มองการอยู่รอดในยุคโควิด-19 ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องปรับตัว ปรับแนวคิด นำเสนอสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดลูกค้าใช้บริการ พร้อมกับเช็คสภาพคล่องธุรกิจ มุ่งลดค่าใช้จ่าย และหาธุรกิจที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด
นางสาวจิดาภา แสงรัฐวัฒนะ เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ต้มตุ๋นชาบู กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารในประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.เป็นต้นมา ได้ปิดให้บริการรับประทานอาหารภายในร้านเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ซึ่งธุรกิจต้มตุ๋นชาบู ถือว่าได้รับผลกระทบเข้ามาอย่างมาก เพราะชาบูถือว่าเป็นอาหารที่จำเป็นต้องนั่งรับประทานภายในร้าน เนื่องจากเป็นอาหารที่ลูกค้าต้องปรุงเอง ทำให้ต้องใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ทางร้านจัดเตรียมให้
หลังจากมีคำสั่งปิดสถานประกอบการจากภาครัฐในช่วงโควิด-19 ทำให้การจำหน่ายอาหารทำได้เฉพาะซื้อกลับบ้านและดิลิเวอร์รี่เท่านั้น กระทบต่อรายได้ของร้านต้มตุ๋นชาบู ที่มีอยู่ทั้ง 2 สาขา คือ สาขาสยามสแควร์ วัน และสาขาจามจุรีสแควร์ ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา หรือรายได้เป็นศูนย์ ขณะที่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ ทั้งค่าเช่าสถานที่ของร้าน ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัตถุดิบที่สั่งซื้อมา ทำให้ต้องมาวางแผนในการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้ลดลงได้มากที่สุด
สิ่งแรกที่ดำเนินการ คือ การเจรจากับผู้ให้เช่าพื้นที่ เพื่อขอลดหรือยกเว้นค่าเช่าชั่วคราว รวมถึงขอความร่วมมือและทำความเข้าใจกับพนักงานขอลดค่าจ้างลงมา หรือขอให้พนักงานบางคนหยุดพักงานไปก่อน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของร้าน ขณะที่สิ่งที่สำคัญในการที่จะสร้างรายได้ในช่วงวิกฤติ เป็นการมองหาช่องทางใหม่เพื่อสร้างรายได้เข้ามาชดเชย
ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดมากขึ้น เทรนด์การสั่งดิลิเวอร์รี่มาแรงมากขึ้น ทำให้เห็นช่องทางใหม่ที่จะต่อยอดจากช่องทางการขายเดิม พร้อมกับปรับสินค้าที่ขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิมที่ลูกค้าจะมานั่งรับประทานในร้านเป็นกลุ่ม ก็ปรับเมนูใหม่เป็นชาบูพร้อมทานคนเดียวออกมาขายแทน เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งได้รับผลตอบรับดีจากลูกค้า
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเมนูใหม่สำหรับลูกค้าที่ต้องการทำชาบูเองที่บ้าน ซึ่งต้มตุ๋นชาบูถือเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ออกสินค้าชาบูแถมหม้อให้ไปรับประทานที่บ้าน ซึ่งการพัฒนาต่อยอดสินค้าของต้มตุ๋นชาบู ถือเป็นการนำวัตถุดิบที่ร้านได้สั่งซื้อไว้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สร้างรายได้เข้ามา ทำให้ยังมีรายได้จากช่องทางใหม่ที่เข้ามาพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้ในช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้น และต้มตุ๋นชาบูยังจะต่อยอดในการขายสินค้าใหม่ ๆ ออกมา เช่น การขายน้ำจิ้มแบบขวด เพื่อเป็นรายได้เสริม สำหรับลูกค้าที่ชอบสูตรน้ำจิ้มของต้มตุ๋นชาบู
แม้ว่าในช่วงที่ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการลง แต่ร้านอาหารยังไม่สามารถเปิดให้บริการลูกค้าได้เต็มที่ และมีข้อจำกัดอยู่มาก ทำให้ต้องวางแผนในการเปิดให้บริการสาขาอย่างดี และทำควบคู่ไปกับบริการใหม่ในช่วงโควิด-19 เพื่อทำให้มีรายได้เข้ามาทั้ง 2 ทาง
"การปรับตัวของธุรกิจจะต้องดูความสามารถของธุรกิจและการเงินของธุรกิจด้วย ไม่ใช่มองแต่ปรับตัวตามกระแส เพราะในภาวะวิกฤติการวางแผนจัดการด้านการใช้เงินของธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ซึ่งจะต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับความสามารถของธุรกิจเอง อาจจะเป็นการค่อย ๆปรับไปทีละนิดได้ก็ได้ ซึ่งอาจจะดีกว่าการปรับตัวในครั้งเดียวที่ใช้ต้นทุนสูงกว่า" นางสาวจิดาภา กล่าว
นางสาวนัทธมน วีระกุล Business and Marketing Director โรงแรม Verona at Tub Lan กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างหนักมาก เพราะนักท่องเที่ยวได้หายไปเป็นจำนวนมากจากการปิดประเทศ การไม่อนุญาตให้เดินทาง และการปิดให้บริการโรงแรม ทำให้โรงแรมไม่มีรายได้เข้ามา แต่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังคงเกิดขึ้นเหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ
การที่จะก้าวข้ามผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้สำหรับธุรกิจโรงแรม Verona at Tub Lan จำเป็นต้องมองมาที่ทรัพยากรของธุรกิจ ที่นอกเหนือจากการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่าย เพื่อรักษาเงินสดและสภาพคล่อง แต่ธุรกิจโรงแรมจะบริหารทรัพยากรอย่างไรให้สามารถต่อยอดและสร้างรายได้ใหม่ ๆเข้ามาชดเชยเพื่อพยุงธุรกิจให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤติไปได้
โดยที่ในส่วนการให้บริการห้องพักนั้น ได้ปรับมานำเสนอประสบการณ์ให้กับลูกค้าในกลุ่มที่เบื่อกับการทำงานอยู่ที่บ้าน (Work from home) สามารถมาใช้บริการห้องพักของโรงแรมที่มีบรรยากาศสวยงาม และมีอาหารรองรับ นำเสนอให้กับลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน ทำให้ชดเชยกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวได้บ้าง
ส่วนบริการอาหารนั้น แม้ห้องอาหารของโรงแรมไม่สามารถเปิดให้นั่งรับประทานภายในห้องอาหารได้ แต่ก็มีบริการนำเสนอเมนูอาหารจากเชฟของโรงแรมส่งให้ลูกค้าถึงบ้าน ด้วยบริการส่งฟรี ประกอบกับมีการขายวัตถุดิบอาหารของโรงแรมให้กับลูกค้าที่ต้องการทำอาหารเองที่บ้าน ทำให้สามารถใช้วัตถุดิบอาหารสร้างรายได้เข้ามาเพิ่มเติม โดยไม่ต้องทิ้งไปให้เสียประโยชน์
นอกจากนี้พนักงานของโรงแรมที่มีความสามารถด้านการตัดเย็บ ได้มีการตัดเย็บหน้ากากผ้าออกมาจำหน่าย ในช่วงที่ทุกคนต่างมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถขายได้กว่า 2 หมื่นชิ้น และทำให้โรงแรมสามารถจ้างและจ่ายเงินให้กับพนักงานได้ปกติ
ที่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสำรวจทรัพยากรที่มีในธุรกิจ และนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถสร้างมูลค่าและชดเชยรายได้หลักที่หายไปได้บางส่วน รวมไปถึงผู้บริหารจะต้องเป็นคนลงมือทำเองให้พนักงานเห็นด้วย เช่น การที่ผู้บริหารโรงแรมขับรถไปส่งอาหารให้กับลูกค้าเอง เพราะในจังหวัดปราจีนบุรี ไม่มีบริการ Grab และ Lineman ใด ๆ ที่อำนวยความสะดวก ทำให้ผู้บริหารต้องลงมือทำก่อน เพื่อเป็นแบบอย่างให้พนักงานเห็นและมีแรงจูงใจในการทำตาม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญ
นายกร เธียรนุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Wawa Pack กล่าวว่า Wawa Pack เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมซัพพลายเออร์บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา pain point ของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และโอท็อป ที่ต้องการสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ แต่ไม่มีฐานข้อมูลซัพพลายเออร์มาก และไม่ทราบราคาที่จะสั่งซื้อ ทำให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มของ Wawa Pack ขึ้นมา ที่รวบรวมซัพพลายเออร์บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มีข้อมูล และเปรียบเทียบราคาที่สมเหตุสมผล และให้บริการแบบครบจบในที่เดียว ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเอสเอ็มอีและโอท็อป ได้รับความสะดวกในการใช้บริการมากขึ้นในที่เดียว
จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ธุรกิจ Wawa Pack ถือว่าได้รับประโยชน์จากวิกฤตินี้ เนื่องจากกระแสและการเติบโตของบริการดิลิเวอร์รี่ และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์และสบู่ล้างมือ ทำให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เติบโตขึ้น ส่งผลบวกกับธุรกิจ Wawa Pack ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากซัพพลายเออร์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ Wawa Pack เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจจะได้รับประโยชน์ในช่วงวิกฤติ แต่จะต้องไม่หยุดการมองหาโอกาสใหม่เพื่อนำมาเป็นทางเลือกในการนำเสนอลูกค้า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ดีกว่าคู่แข่งในธุรกิจ รวมไปถึงการปรับ Mindset ใหม่ ๆ ที่สร้างไอเดียใหม่ให้เกิดขึ้นกับธุรกิจในรูปแบบ Growth Mindset แต่จะต้องมีการปรับความคิดที่เริ่มตั้งแต่วัฒนธรรมองค์กรที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันการขับเคลื่อนความสามารถของธุรกิจในการปรับปลี่ยนแนวทางใหม่ ๆ ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันได้และไม่หยุดอยู่กับที่ตลอดเวลา