นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องปรับบทบาทใหม่เพื่อให้ชาวมุสลิมสามารถเข้าถึงการบริการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยจะต้องเข้าไปช่วยเหลือให้ชาวมุสลิมมีความมั่นคงในชีวิต ปล่อยสินเชื่อในทุกเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล ส่งเสริมฮาลาลในกลุ่ม SMEs รายย่อย เพื่อสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานเติบโตและพัฒนามากขึ้น ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชาวมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐตามบทบาทและภารกิจใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
นอกจากนี้ ฝากให้ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยไปเร่งดำเนินการ คือ เพิ่มสาขาในภาคใต้ที่ยังมีน้อย ขณะนี้มีสาขาในภาคใต้อยู่เพียง 40 สาขา จากทั่วประเทศ 100 สาขา ดังนั้นควรขยายสาขาในภาคใต้ให้ครบทุกอำเภอ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือชาวมุสลิมที่ส่วนใหญ่อาศัยภาคใต้จำนวนมาก ตามนโยบายและภารกิจที่ตั้งไว้ โดยเชื่อว่าหากทำได้ตามนโยบายที่วางไว้จะทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศและประเทศในตะวันออกกลาง และในอีกหลายประเทศที่อยากช่วยชาวมุสลิมมาร่วมลงทุนกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ช่วยทำให้ธนาคารเข้มแข็งขึ้น จะได้ไม่ต้องพึ่งพาการเพิ่มทุนจากรัฐบาลในอนาคต
"มอบให้ผู้บริหารธนาคารไปจัดทำแผนงาน ทั้งในเรื่องการเพิ่มสาขา เพิ่มสัดส่วนการให้บริการชาวมุสลิม การพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ถ้าขาดเหลืออะไร กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุน โดยเน้นย้ำไปว่าไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการทำกำไร แม้ว่าการช่วยเหลือประชาชนจะทำให้ธนาคารกำไรลดลงแต่ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ"นายสันติ กล่าว
อย่างไรก็ตามหากไปดูโครงสร้างสินเชื่อและเงินฝาก ยังมีสัดส่วนของลูกค้าชาวมุสลิมน้อยมาก โดยใน เดือนมีนาคม สินเชื่อกว่า 54,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ลูกค้ารายใหญ่จำนวน 27,174 ล้านบาท สัดส่วน 19% ลูกค้า SMEs จำนวน 7,825 ล้านบาท สัดส่วน 14% และลูกค้า Retail จำนวน 19,930 ล้านบาท สัดส่วน 37% เมื่อแบ่งสัดส่วนลูกค้าสินเชื่อทั้งหมดจำนวน 37,844 ราย พบว่า เป็นลูกค้ามุสลิมจำนวน 12,215 รายสัดส่วน 32% และส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าไม่ใช่ชาวมุสลิมจำนวน 25,629 ราย สัดส่วน 68%
สำหรับเงินฝากส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ 46% วงเงิน 36,686 ล้านบาท ลูกค้ารายกลาง 21% วงเงิน 1,600 ล้านบาท และลูกค้าย่อย 33% วงเงิน 26,364 ล้านบาท โดยธนาคารมีลูกค้าเงินฝากประมาณ 890,000 ราย ในจำนวนนี้ 58% เป็นลูกค้าที่เป็นมุสลิม หรือประมาณ 513,089 ราย และเป็นลูกค้าไม่ใช่มุสลิม 42% หรือ 376,740 ราย