น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคกิจการประมง และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง จะได้มีเงินทุนในการปรับปรุงเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และจ้างแรงงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
โครงการนี้เป็นการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ โดยยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แยกตามขนาดเรือประมง กรณีผู้ประกอบการมีเรือทั้ง 2 ขนาด ให้ผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อได้เพียงแห่งเดียว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ ธนาคารออมสิน วงสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการที่มีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป สูงสุดไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท
ส่วนธ.ก.ส. วงสินเชื่อรวม 5,300 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการที่มีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส สูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท
โดยปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ย 4% ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่กู้
สินเชื่อจะมี 2 ประเภท คือ 1)เงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ 2) เงินกู้ระยะยาว เป็นเงินทุนในการปรับปรุงเรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำประมง
ในส่วนของการชดเชยดอกเบี้ย ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินรวม 2,164.1 ล้านบาท เป็น 1)ค่าชดเชยดอกเบี้ยธนาคารออมสิน ปีละ 150 ล้านบาท รวม 1,050 ล้านบาท และค่าชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส.ปีละ 159 ล้านบาท รวม 1,113 ล้านบาท โดยให้ธนาคารขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณตามที่เกิดขึ้นจริง
2)ค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการของกรมประมงและติดตามประเมินผล รวม 1.1 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมประมงคล่องในการประกอบอาชีพประมง "โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสภาพคล่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวแก่ผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศ 2,820 ราย รวมเรือประมง 4,822 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ 4,384 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 438 ลำ ให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป" น.ส.รัชดา กล่าว