รมว.คลังแนะบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบจากค่าเงินผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2007 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "การลดความเสี่ยงของสถาบันการเงิน โดยใช้การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และการประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือ" ว่า ในภาวะปัจจุบันที่มีความผันผวนสูงซึ่งมีผลมาจากที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ตลอดจนส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น ความผันผวนเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดปานกลาง จึงทำให้ได้รับผลกระทบด้านราคาตลาด และราคาสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งกลายเป็นความท้าทายต่ออัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้นการพิจารณาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่ผ่านมาเงินไหลเข้าประเทศอย่างมากจึงทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ทางการได้ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนไปมากกว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ดีไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาต่างประเทศมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ประเทศไทยมีการลงทุนที่เข้มแข็ง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อเงินบาทแข็งค่าก็จะไม่ได้รับผลกระทบมาก
ทั้งนี้เห็นว่าภาวะเงินบาทแข็งค่ายังมีผลดีหลายด้าน เช่น สามารถนำเข้าน้ำมันได้ในราคาที่ถูกลง, ช่วยลดภาระหนี้ต่างประเทศ, ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสามารถนำเข้าสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง เป็นต้น ดังนั้นนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยดูแลผู้ส่งออกจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งมาตรการ 6 ข้อที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จึงเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้น และนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้นในการทำธุรกรรมต่างๆ
นายฉลองภพ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเมื่อออกมาแล้วคงไม่สามารถเห็นผลได้ทันที เพราะต้องขึ้นกับปัจจัยทั้งด้าน demand และ supply ด้วย แต่สิ่งสำคัญคือเป็นการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดความผันผวนของค่าเงิน รวมถึงรักษาระดับการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มากไปกว่าประเทศคู่แข่ง
พร้อมเห็นว่ามาตรการที่ออกมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาในระยะสั้นถือว่าไม่มีปัญหา แต่ในระยะปานกลางสังคมจะต้องร่วมคิดและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน คือ เรื่องของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งต้นทุนของประเทศจะต้องมีความสำคัญมากกว่าต้นทุนของหน่วยงาน
รมว.คลัง แนะว่า แนวทางในการลดต้นทุนดังกล่าวคือ ในอนาคตผู้ส่งออกอาจต้องเจรจากับคู่ค้าเพื่อใช้เงินสกุลอื่นแทนการใช้เงินดอลลาร์ที่เป็นสกุลเงินหลักในการทำธุรกรรมซื้อขาย เนื่องจากขณะนี้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงมาก
นายฉลองภพ กล่าวว่า ในอนาคตกระทรวงการคลังจะเข้ามามีส่วนร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในการดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้กระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรได้แม้ไม่มีการขาดดุลงบประมาณ และสามารถนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรไปลงทุนทั้งในหรือต่างประเทศได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้ต้องซื้อเงินตราต่างประเทศไปลงทุนอันจะช่วยในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้
ทั้งนี้การบริหารความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืม เพราะช่วงวิกฤตในปี 40 เป็นผลมาจากระบบบริหารความเสี่ยงล้มเหลว ดังนั้นหากใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักปฏิบัติก็จะสามารถช่วยได้ โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลความเสี่ยงโดยตรง เช่น การประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สถาบันการเงินในการลดความเสี่ยง แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลที่ดีด้วยไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดประโยชน์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ