นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ยืนยันการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินทั้ง 3 ฉบับนั้นจะมีการกู้เงินจริงจำนวน 1 ล้านล้านบาท ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 เพียงฉบับเดียว ส่วน พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับนั้นจะเป็นการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้วมาช่วยแก้ปัญหา
เหตุผลในการกู้ครั้งนี้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุมแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อเยียวยา เพื่อรักษาสภาพคล่องเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบ ตลอดจนการรักษาเสถียรภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลผลกระทบเฉียบพลันที่เกิดขึ้นทันที ให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพียงพอยังชีพในภาวะที่เศรษฐกิจถูกกระทบ รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs และการปกป้องรักษา เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุน ซึ่งเป็นแนวทางสากล โดยมีกรอบดำเนินการที่รัดกุมและดำเนินการทุกอย่างอยู่ในกรอบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้ 4 ตัวชี้วัด
สำหรับวงเงินกู้เพื่อแก้ไขวิกฤตโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาทนั้น คิดเป็น 6% ต่อจีดีพี และ 31% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการกู้เงินของรัฐบาลในอดีตแล้วไม่มีความแตกต่างกัน และมีกรอบดำเนินการที่รัดกุมและดำเนินการทุกอย่างอยู่ในกรอบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้ 4 ตัวชี้วัด คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นก.ย.64 คาดว่าจะอยู่ที่ 57.96% จากเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60%, สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้อยู่ที่ 21.2% จากเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35%, สัดส่วนหนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 2.53% จากเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10% และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้า/บริกา รอยู่ที่ 0.19% จากเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5%
"เวลานี้ไม่ใช่เวลาปกติ แต่ยังยึดตามเกณฑ์ปกติอยู่"
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การดำเนินการเยียวยาล่าช้าเพราะต้องใช้เวลา เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการในเรื่องนี้
"การใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน เป็นแนวทางสุดท้ายของรัฐบาลจริงๆ ที่จะแก้ปัญหาในครั้งนี้...นอกจากนี้การเยียวยาไม่ใช่แค่ครั้งเดียวเสร็จ ต้องมีการดำเนินการต่อเนื่อง" นายอุตตม กล่าว