นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) ซึ่งมีตนเป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติให้ใช้เงินกองทุน 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ เช่น ค่ากล่องบรรจุ ค่าขนส่ง ค่าคัดเกรดไข่ไก่ ในอัตราฟองละ 50 สตางค์ เพื่อผลักดันการส่งออกไข่ไก่ 200 ล้านฟอง โดยจะช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ 100 ล้านฟอง ส่วนอีก 100 ล้านฟอง ภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกับรัฐบาลผลักดันส่งออก มีเป้าหมายภายใน 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-พ.ย.63 แต่ในช่วง 4 เดือนแรก ต้องส่งออกให้ได้ 100 ล้านฟอง และ 2 เดือนหลังอีก 100 ล้านฟอง
สาเหตุที่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อผลักดันการส่งออกไข่ไก่ เพราะขณะนี้ผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 41-42 ล้านฟอง มีการบริโภคในประเทศ 38-39 ล้านฟอง จึงเหลือไข่ไก่ส่วนเกินวันละ 3-4 ล้านฟอง เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรมยังเปิดได้ไม่เต็มที่ จากมาตรการล็อกดาวน์ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เข้ามา และโรงเรียนยังอยู่ในช่วงปิดเทอม ทำให้การบริโภคไข่ไก่ลดลง
ส่วนการบริโภคในประเทศ จะระบายผลผลิตไข่ไก่อีก 15 ล้านฟอง โดยจะขายราคาถูกผ่านโครงการจำหน่ายสินค้าธงฟ้า และร้านค้าธงฟ้าทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการประมาณ 2 เดือน รวมทั้งหมดจะระบายไข่ไก่ออกจากระบบได้ประมาณ 215 ล้านฟอง ขณะเดียวกัน จะลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรงด้วย ซึ่งกรมปศุสัตว์ จะหารือกับผู้เลี้ยง กำหนดสัดส่วนในการลดปริมาณของแต่ละราย เพื่อทำให้ปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดลดลง
"เชื่อว่าจะช่วยให้ราคาไข่ไก่สูงขึ้นไปจนถึงต้นทุนของเกษตรกรที่ฟองละ 2.80 บาทได้ จากปัจจุบันราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยฟองละ 2.40 บาท และในบางพื้นที่เฉลี่ยฟองละ 2 บาท"
อย่างไรก็ตาม กรมจะมีการติดตามสถานการณ์ราคาไข่ไก่อย่างใกล้ชิดจะใช้ไข่ไก่เบอร์ 3 ที่คนนิยมบริโภคกันมากมาเป็นเกณฑ์ราคา โดยหากราคาไข่ไก่เบอร์ 3 สูงกว่าฟองละ 3 บาท กรมจะมีมาตรการดูแลราคาทันที เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากนัก แต่ถ้าต่ำกว่าฟองละ 3 บาท ก็ต้องช่วยทำให้ราคาขึ้น ส่วนเบอร์ 0 เบอร์ 1 ราคาจะสูงกว่านี้ ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้ว