ธปท.ค้านแนวคิดแยกฝ่ายกำกับดูแลสถาบันการเงิน ระบุยังไม่จำเป็น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 2, 2007 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          แบงก์ชาติค้านแนวคิดแยกฝ่ายกำกับดูแลสถาบันการเงินออกมาเป็นอิสระ โดยระบุว่ายังไม่มีความจำเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้มีระบบการเงินที่ซับซ้อน ชี้ตัวอย่างหลายประเทศที่แยกการกำกับยังไม่ประสบความสำเร็จ ขณะทีเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการบริหารทุนสำรองเต็มรูปแบบในอนาคต 
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “การปฏิรูปบทบาทและหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย” เกี่ยวเนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ของธปท.ว่า ไม่เห็นประโยชน์ว่าจะต้องมีการแยกการกำกับสถาบันการเงินจาก ธปท.
ทั้งนี้ ประเทศที่แยกการกำกับดูแลสถาบันการเงินออกมาส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีระบบการเงินซับซ้อน ทำให้มีธุรกรรมใหม่ ๆ นอกเหนือจากธุรกรรมธนาคารปกติค่อนข้างมาก ทำให้ต้องมีการแยกการกำกับออกมาแต่ละส่วนออกมา
นอกจากนั้น จากการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)เห็นว่าการแยกการกำกับดูแลสถาบันการเงินออกมาเป็นอิสระมีประโยชน์น้อยมาก ซึ่งหลายประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยยกตัวอย่าง สิงคโปร์ และ เนเธอร์แลนด์ ที่เคยแยกออกมา แต่ขณะนี้ก็ต้องกลับไปใช้ระบบเดิม เป็นต้น
"ถ้าไทยมีบริษัทประกัน หรือมีบล.เป็นบริษัทแม่ของแบงก์ ก็ควรแยก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้น ดังนั้นขณะนี้ไม่ควรแยก"นางอัจนา กล่าว
ส่วนการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่ ธปท.เคยคิดไว้ว่าควรจะมี แต่เมื่อกลับมาพิจารณาอีกครั้งก็เห็นว่าทุนสำรองฯของไทยไม่ได้มากเหมือนจีน หรือเกาหลีใต้ จึงยังไม่จำเป็นต้องรีบจัดตั้ง แต่หากต้องการนำเงินมาใช้ไฟแนนซ์โครงการเมกะโปรเจ็คต์เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแพง ๆ ให้ต่างประเทศ รัฐบาลก็ควรต้องออกพันธบัตรมาค้ำประกันหนี้
นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เห็นว่า ธปท.ควรจะแยกการกำกับดูแลสถาบันการเงินออกมา เพราะหากการกำกับดูแลเกิดความคลุมเครือ ก็จะทำให้นโยบายที่ออกมาคลุมเครือไปด้วย โดยสิ่งที่ฝ่ายกำกับฯควรจะตระหนักคือการสร้างสมดุลระหว่างการให้ความสำคัญความมั่นคงของสถาบันการเงินและในด้านการพัฒนา ซึ่งธปท.มักจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากกว่า
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยในอีก 5-10 ปีข้างหน้า คือความท้าทายของพลังตลาด โดยที่ผ่านมาธปท.ให้ความสนใจตลาดเงินตลาดทุนเท่านั้น แต่ต่อไปจะต้องเผชิญทุกอย่างทั้งตลาดสินค้าเกษตร ตลาดประกันภัย ฯลฯ เพราะต่อไปทุกตลาดจะเชื่อมโยงกันหมด เช่น ตลาดเงินจะเชื่อมโยงกับตลาดประกันภัย ตลาดอสังหารริมทรัพย์จะเชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน
ดังนั้น จึงเป็นความท้าท้ายที่ธปท.ต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบดังกล่าว โดยธปท.จะต้องเป็นผู้ชี้นำตลาด ที่ผ่านมา ธปท.เป็นผู้ตามหลังตลาดหลายเรื่อง โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ย และมีการกำหนดเป้าเงินเฟ้อกว้างที่สุดในโลกถึง 0.-3.5%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ