นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติมจากที่ ธพว. ได้ดำเนินมาแล้ว โดยเดินหน้าเติมทุนสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่มธุรกิจทั่วประเทศ มีเงินทุนไปหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง จ้างงาน และฟื้นฟูธุรกิจให้กลับคืนมาสามารถดำเนินการได้ดีอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายดีขึ้นโดยลำดับ
รมว.อุตสาหกรรม คาดจะอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ 24,000 กิจการ ส่งผลดีต่อไปยังระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยรักษาการจ้างงานประมาณ 120,000 ราย สร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจประมาณ 90,000 ล้านบาท
สำหรับสินเชื่อของ ธพว. ประกอบด้วย สินเชื่อวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่อง สำรองเป็นค่าใช้จ่าย ได้แก่ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3% ต่อปี และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3%ต่อปี 3 ปีแรก และสินเชื่อ soft loan ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อัตราดอกเบี้ย 2%ต่อปี อีกทั้ง ยังมีสินเชื่อวัตถุประสงค์เพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ได้แก่ สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง SME D Happy อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.375% ต่อปี และสินเชื่อ SMART SMEs อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี แถมยังรับรีไฟแนนซ์ (Refinance)
นอกจากนั้น มอบหมายให้ ธพว. เติมทุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้แก่ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชารัฐ แบ่งเป็น "โครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ" (สินเชื่อประชารัฐ) และ "โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับ SMEsคนตัวเล็ก" (สินเชื่อ SMEs คนตัวเล็ก) คิดอัตราดอกเบี้ย 1% และร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการสินเชื่อ "SMEs One" คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน
ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. เผยว่า ธนาคารจะกระจายการสนับสนุนเอสเอ็มอีทั่วประเทศครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยการใช้ออฟไลน์ควบคู่ออนไลน์ จับมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีทั่วประเทศให้เข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินของ ธพว. มากที่สุด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธพว. ดำเนินมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ชื่อมาตรการ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม" โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่มาตรการแล้ว 9,458 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 14,924.63 ล้านบาท นอกจากนั้น ธพว. ยังช่วยเหลือลูกค้าลดภาระค่าใช้จ่าย ตามนโยบายธปท. โดยชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ สูงสุด 6 เดือน ให้ลูกค้าทุกรายที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยมีลูกค้า ธพว. ได้รับการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติจำนวน 43,215 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท