ยูบีเอส แสดงทัศนะว่า การนำเข้าอาหารของจีนจะต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะมีอิทธิพลต่อราคาเกษตรกรรมโลก เฉกเช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอิทธิพลต่อโลกในขณะนี้ เนื่องจากการนำเข้าอาหารเริ่มต้นจากฐานที่ต่ำกว่า
"ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจัยที่หลากหลาย เช่น อุปทานที่ดินที่ตกลง การขาดแคลนน้ำ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานในชนบทที่ตึงตัวมากขึ้น และอุปสงค์อาหารที่พุ่งสูงขึ้น ต่างเป็นปัจจัยในการผลักดันราคาในประเทศให้สูงขึ้นแล้ว และอาจเป็นผลให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรมากขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้านี้" โจนาธาน แอนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์ประจำยูโอบี กล่าว
"แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราสรุปว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเกิด ไชน่า เอ็ฟเฟคท์ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ยั่งยืนต่อตลาดเกษตรโลก โดยเหตุผลคือ ราคาอาหารมีความแตกต่างไปจากพลังงานและแร่ธาตุ การนำเข้าอาหารของจีนเริ่มต้นด้วยพื้นฐานที่ต่ำมาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนแบ่งของการค้าโลก หรืออุปสงค์ในประเทศทั้งหมด" เขากล่าว
บทสรุปของยูบีเอส สวนทางกับมุมมองที่ว่า การที่จีนพึ่งพาการนำเข้าอาหารมากขึ้น เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจาการาคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งกระดาน หลังจากที่มี ไชน่า เอ็ฟเฟคท์ ต่อราคาน้ำมันและแร่ธาตุ
นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า จีนเริ่มกระบวนการนำเข้าอาหารเป็นจำนวนมหาศาล เมื่อปี 2547 เป็นปีที่จีนนำเข้าอาหารอย่างมาก แต่ในปี 2548 และ 2549 จำนวนการนำเข้าลดลงมาก และในปีนี้ก็จะมีทรงตัวในระดับเดียวกัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ฤดี ภวสิริพร/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--