นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวภายหลังเปิดโครงการ "ยกระดับค้าส่งค้าปลีกไทย สู่ยุค New Normal" ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) อย่างเต็มรูปแบบ โดยให้ความสำคัญเรื่องสุขลักษณะที่ดี ร้านค้า/สินค้าต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรค รวมทั้งเน้นซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น
ดังนั้นร้านค้าส่งค้าปลีกของไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค เช่น เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ควบคู่กับการขายสินค้าหน้าร้าน ปรับวิธีการบริหารจัดการร้านค้าให้เป็นระบบ/ระเบียบมากขึ้น ดูแลร้านค้าและสินค้าให้มีความสะอาด หาสินค้าได้ง่าย เพราะลูกค้าจะใช้เวลาอยู่ภายในร้านไม่นาน เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและโชห่วยขนาดกลางประมาณ 6,061 ร้าน และโชห่วยขนาดเล็กประมาณ 400,000 ร้าน
ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของไทย โดยจัดทำโครงการยกระดับค้าส่งค้าปลีกไทย สู่ยุค New Normal โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โชห่วยขนาดกลาง 180 ราย แบ่งเป็น ภาคเหนือ 41 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57 ราย ภาคกลาง 64 ราย และภาคใต้ 18 ราย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังโรคโควิด-19 คลี่คลาย และรองรับวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภค รวมถึงยกระดับศักยภาพธุรกิจให้มีระบบการบริหารจัดการตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ เสริมสร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการบริหารจัดการร้านค้าและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีรายได้ที่มั่นคง เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน
"กรมฯจะนำผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการร้านค้าปลีกลงพื้นที่ ร้านค้าส่งค้าปลีก และโชห่วยขนาดกลาง ที่เข้าร่วมโครงการตั้งอยู่ เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ โดยระบุปัญหาของแต่ละธุรกิจ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะ วิธีการแก้ไขปัญหาที่อย่างตรงจุด พร้อมทั้ง พาลงพื้นที่ศึกษาดูงานธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำความรู้ที่ได้ มาปรับใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน" นายพูนพงษ์ กล่าว