นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย กล่าวในการเสวนาออนไลน์"New Normal เมื่อโลก (โรค) ขยับ ธุรกิจต้องปรับและรับมือ"ว่า ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาในช่วงปิดประเทศทำให้รู้ว่าประเทศไทยเก่งเรื่องใดบ้าง ได้แก่ 1.Food Security เพราะเมื่อปิดประเทศแต่เรายังมีอาหารจุนเจือ มีผลไม้ มีผัก มีเนื้อสัตว์ 2.มียารักษาโรคพร้อม เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ 3.พลังงานมีพร้อม มีก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงแดด 4.Job Security แม้บางคนถูกเลิกจ้าง และต้องหางานทำใหม่ แต่รัฐบาลก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ให้เงิน 5,000 บาท 3 เดือน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก หากสามารถปรับตัวได้เร็ว และเปลี่ยนแปลงได้เร็ว เรียนรู้ได้เร็วว่าต้องทำอะไรบ้าง จะทำให้อยู่รอดได้
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 นั้น เงื่อนไขต่างๆไม่แน่นอน แต่สิ่งที่เกิดก่อนโควิด ระหว่างโควิด และ หลังโควิด คือ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจของไทยบอบช้ำมาก่อน
ทั้งนี่ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าจะเป็น L หรือ U หรือ V เกิดก่อนสัญญาณที่เกิดโควิด-19 เพราะเมื่อมีสงครามการค้าเกิดขึ้นทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 61 เพราะฉะนั้นถ้านับจากสงครามการค้าเกิดขึ้นก็คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในลักษณะ U Shape ขณะที่ปัจจุบันยังมีโควิดมาซ้ำเติมอีก
"สำหรับปีนี้ เศรษฐกิจติดลบแน่ แต่จะลบเท่าไหร่อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนปีหน้าจะฟื้นหรือไม่ หรือจะฟื้นเร็วขึ้นอยู่กับมาตรการ Re-open ของสหรัฐฯกับจีน และสถานการณ์กำลังซื้อ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่โลกไม่มีตัวเปรียบเทียบเพราะที่ผ่านมา 100 ปีเราเจอแต่วิกฤตการณ์ทางการเงิน การล้มลงของสถาบันการเงินเป็นเรื่องที่เราคุ้นชิน
"มีหลายเรื่องที่เป็น Mega Trend อยู่แล้ว แต่ New Normal เข้ามาเสริม Mega Trend ให้เร็วขึ้น และ บาง New Normal จะสั้นหรือยาวต้องจับประเด็นให้ชัด"นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในช่วงเดือน เม.ย.63 ที่ผ่านมาหอการค้าฯ คาดการณ์ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโดยใช้รูปแบบสถานการณ์ซาร์สที่จบใน 120 วันเป็นสมมติฐานว่าสถานการณ์ธุรกิจะคลายตัวในเดือน พ.ค.และคาดหวังว่าการท่องเที่ยวน่าจะปลดล็อกเดือน ส.ค.จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 3 ถึง -5% และปีหน้าก็ยังอาจติดลบ เพราะเห็นถึงความมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ของมาตรการภาครัฐที่ออกมา โดยเฉพาะ Soft Loan
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจฟื้น การคลายล็อกการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเดินทางไปมาได้ตามปกติ ถ้าทุกอย่างคลายตัว รัฐบาลอัดฉีดเงินเต็มที่ Sentiment กลับมา ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว แต่จะเร็วแค่ไหนคงต้องประเมินถี่ แต่ถ้ามองแบบกลางๆ เศรษฐกิจจะฟื้นปีหน้า ภายใต้เงื่อนไขการเมืองไม่นิ่ง จะมีการปรับ ครม.หรือไม่ พลังประชารัฐจะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจหรือไม่ การจลาจลในสหรัฐจะควบคุมได้หรือไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นอย่างไร นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐหรือไม่ นโยบายสงครามการค้าจะกลับมาหรือไม่
"วินาทีนี้ต้องชำแหละว่ากลุ่มไหนมีปัญหา ท่องเที่ยวมีแน่นอน ภาคไหนที่อิงท่องเที่ยวเยอะ และมาจากต่างประเทศเยอะ เช่น พื้นที่อันดามันหรืออ่าวไทย แน่นอนว่าพื้นที่ภาคใต้ราคายางและปาล์มจะร่วง ภาคใต้จะหนักและเหนื่อย รัฐต้องดูแล อย่างน้อยต้องเปิดด่านมาเลย์ ทำเงินบาทให้อ่อนเล็กน้อย เปิดชาร์เตอร์ไฟลท์ เอกชนต้องกระตุ้นให้ท่องเที่ยวภาคใต้ จัดประชุมสัมมนาพื้นที่ที่ไม่ได้เปิดตัว ส่วนถ้าเป็นพื้นที่โซนภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโซนอุตสาหกรรม โซนผลไม้ ถ้าประสานกันในการไปเจาะตลาดยานยนต์ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ ธปท.ต้องทำให้เงินบาทไม่แข็งเร็วเกินไป"นายธนวรรธน์ กล่าว
"สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเอาข้อมูลหอการค้า หอการค้าจังหวัดไปคุยกับภาครัฐ เอกชนก็ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ใช้เทคโนโลยี ใช้ออนไลน์ ช่วยกันทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจกับหมอให้เข้าใจในธุรกิจ ทำบาทให้อ่อน ส่งออกให้ได้ เปิดธุรกิจท่องเที่ยวให้เหมาะสมเพื่อให้เงินหมุนเวียน ขณะที่ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างยิ่งยวด ลูกค้าต้องการอะไรต้องปรับตามนั้น
สำหรับมาตรการต่างๆที่รัฐบาลทำเพียงพอหรือไม่ ไม่ว่าจะอัดฉีดเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แจกเงิน หรือต้องทำอะไรอีก นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สถิติเกี่ยวกับตัวเลขต่างๆ ยังไม่ชัด เพราะยังสะสมมาไม่กี่เดือน ประเทศส่วนใหญ่เศรษฐกิจติดลบในไตรมาส 1 การส่งออกส่วนใหญ่ติดลบ ความเชื่อมั่นของจีนกลับมาในเดือน เม.ย. ขณะที่สมัยวิกฤติต้มยำกุ้งไทยใช้เวลา 7 ปีในการกลับมาสู่ระดับปกติ และประชาชนรู้สึกกลับมาเชื่อมั่น แต่หลังจากปี 49 เราเจอปัญหาการเมือง ขณะที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มีปัญหาที่หนักมาก โลกก็ใช้เวลาฟื้นเกือบ 7-10 ปี ก่อนมาเจอสงครามการค้าซ้ำเติมอีก
"ทั้งโลกเสียหายในระบบเศรษฐกิจ ต้องใช้ 10% ของจีดีพีในการกระตุ้น ของไทยใช้ 10% ก็จริงแต่ที่หอการค้าไทยประเมินความเสียหายที่เกิดในระบบเศรษฐกิจในช่วงโควิดน่าจะอยู่ประมาณ 2-2.5 ล้านล้านบาท การคลายล็อกดาวน์เอกชนมีรายรับน้อยลง 50% เงินที่อัดเข้าไป 1 ล้านล้านบาท ใช้จริงๆ 6 แสนล้านในการเยียวยาและใช้ 4 แสนล้านในการกระตุ้นยังไม่ชัด ส่วน Soft Loan 5 หมื่นล้าน การขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้าน ที่เป็นการขาดดุลงบประมาณปกติปี 62 และ 63 ยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างเป็นมรรคผล
เงินที่หายไป 2-2.5 ล้านล้าน แต่อัดเข้าไปแค่ 6 แสนล้าน Soft loan 5 หมื่นล้าน กับมาตรการคลายล็อกดาวน์มันยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เราควรใช้ฟื้นเศรษฐกิจ ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้เศรษฐกิจจะถูกลากและถลำลึก"นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่ช่วยให้ประเทศหนีตายได้คือการเปิดท่องเที่ยว ภาคเอกชนกับภาครัฐจะไปหารือในกรอบอาเซียนกันได้หรือไม่ ชายแดนจะเปิดล็อกได้หรือไม่ นี่คือการเยียวยาโดยไม่ต้องใช้เงิน
สำหรับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทที่ภาครัฐยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนนั้น ควรใช้จ่ายลงสู่ภาคเศรษฐกิจให้ได้ 2-3 แสนล้านบาทภายในปีนี้ ไตรมาส 3 ลงให้ได้ 2 แสนล้านบาท ไตรมาส 4 อีก 3 แสนล้านาท พร้อมทั้งดูแลเยียวยาให้คนจนประคองตัวได้ ทำให้มีงานทำ คลายล็อกท่องเที่ยว ทำท่องเที่ยวชุมชน เพิ่มทักษะ เพิ่มมูลค่าเกษตร ประกันรายได้เกษตรกร จ้างงานในพื้นที่ อย่าจ้างแรงงานไปขุดและกลบถนน แต่จ้างไปสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซื้อวัตถุดิบในประเทศ จ้างซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น ปลดล็อกด่านการค้าชายแดน
ขณะที่เอกชนต้องปรับตัว ต้องจับกระแสการเปลี่ยนแปลง การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพการผลิต และสินค้าให้สอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อให้มีโอกาสในการทำธุรกิจ
ขณะที่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โควิดจะเร่งการเปลี่ยนแปลงบางเรื่อง ขณะเดียวกันโควิดจะถ่วงหลายเรื่องทำให้การเปลี่ยนแปลงตาม Mega Trend ช้าลง แต่สำคัญที่สุดคือโควิดจะสร้างข้อจำกัดใหม่ของทั้งโลกในการทำธุรกิจ เพราะจะทำให้จนลงกันทั้งโลก โดยขณะนี้มีประมาณ 100 ประเทศกำลังพัฒนาและกำลังพัฒนาขนาดใหญ่จะไปขอความช่วยเหลือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่ IMF เตรียมเงินไว้เพียง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือจะต้องเพิ่มทุนอย่างไรยังไม่แน่นอน
"รอบนี้นอกจากประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ยังมีประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำหนักสำคัญในเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่ม BRICS ซึ่งรวมจีนด้วย ซึ่งถ้าตัดจีนออกไปก็เหลือบราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ถูกผลกระทบจากโควิดหนักมาก...หนี้สาธารณะของประเทศเหล่านี้ขึ้นกันเกือบ 10% ของจีดีพี นี่คือน้ำหนักเศรษฐกิจที่ถูกกระทบใหญ่ๆ"
นายสมเกียรติ กล่าวว่า กำลังซื้อจะหายไปหลายปีจากการไปขอความช่วยเหลือจาก IMF แต่กำลังซื้อของชนชั้นกลางหรือคนรายได้สูงจะยังมีอยู่ พร้อมมองว่าถ้าปีนี้เศรษฐกิจติดลบ -10% ปีหน้าน่าจะเป็นบวกอยู่แล้วหากเทียบกับฐานเดิม แต่ประเด็นสำคัญในการดูกำลังซื้อคงไม่ได้ดูจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ถ้าปีนี้ -10% ปีหน้าโต 5% มันต้องใช้เวลา 2 ปีกว่าจะกลับมาระดับเดิมก่อนเกิดโควิด ภาพแบบนี้ถ้าติดตามดูความเคลื่อนไหวว่าเราจะกลับมาสู่ภาวะก่อนเกิดโควิดได้เมื่อใด เงื่อนไข 2-3 ประเด็นคือ มียารักษาโรค หรือมีวัคซีนเมื่อไหร่ หรือเกิดติดเชื้อมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้น ความหวังอยู่ที่วัคซีนกับยา
สำหรับการปรับโครงสร้างธุรกิจหลังโควิดถ้ายังอยากอยู่รอด นายสมเกียรติ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องวางแผนจากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด แต่ควรวางแผนจากสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุด โอกาสมาทุกการเปลี่ยนแปลง คนที่จะอยู่รอดในช่วงนี้คือมีสายป่าน มีเงินสด มีสภาพคล่อง เข้มแข็ง สามารถคิดธุรกิจ โครงสร้างการแข่งขันจะลดลงเพราะจะมีคนล้มหายตายจากไป กรณีของธุรกิจสายการบินไม่ใช่จะแก้ปัญหากันได้ง่ายๆ การบินไทยน่าจะรอดยาก เพราะก่อนเกิดโควิดก็ยากลำบากอยู่แล้ว แม้กระทั่งแอร์เอเชียที่ผลประกอบการดีที่สุดในประเทศไทยก็ยังเหนื่อย เพราะต้อง Social Distancing จากเก้าอี้ 3 ตัวนั่งได้ 2 ตัว ต้องขึ้นค่าตั๋วโดยสารทั้งๆที่อำนาจการซื้อของผู้บริโภคลดลง เพราะไม่มีทางเลือกเนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น
"คนจะรอดได้ตอนนี้คือบริหารเงินสดได้ดี การบริหารสภาพคล่อง รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าใหญ่ๆ ลดต้นทุน การ Work from Home จะมา ช็อปปิ้งออนไลน์จะมา ซึ่งเชื่อว่าโควิดจะกระตุ้นที่เกิดก่อนแล้วมาเร็วขึ้น การ WFH ทีดีอาร์ไอทดลองมาแล้ว ลดค่าใช้จ่ายไปได้ 2.1 ล้านกว่าบาท ส่วนใหญ่คือพนักงานไม่ต้องเดินทาง แต่ส่วนที่ Safe มากสุดคือทุกคนมีเวลาเพิ่มขึ้น ทำให้ทีดีอาร์ไอไม่ต้องลดคนงาน และ Keep คนได้ จ่ายเท่าเดิมแต่พนักงานรู้สึกว่าได้อะไรมากขึ้น และ WFH จะอยู่ในระยะสั้นและต่อไปได้ในระยะยาว ต่อไปการประชุมหอการค้าไทยอาจจะประชุมกันโดยใช้เทเลคอนเฟอร์เรนซ์
ทั้งนี้ มองว่าโควิดจะชะลอเรื่องของการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การรณรงค์ใช้แก้วกระดาษ แต่โควิดทำให้เกิดการใช้แก้วส่วนตัว กับ Automation จะช้าลงเพราะการเกิดโควิดทำให้การผลิตหดหาย เพราะกำลังในการลงทุนของธุรกิจลดลง ซึ่งอัตราการใช้กำลังผลิตของอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.เหลือแค่ 60% เพราะการจะนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงาน ยกเว้นบางสาขาที่ยอดขายยังดีเช่นสาขาอิเล็คทรอนิกส์
"ถ้าจะวางแผนธุรกิจ...ใช้ตัวเลขหรือสถิติไม่ได้ แต่คนน่าจะใช้กันคือหาวิธีของเรื่องเล่าว่าโลกหน้าตาเป็นอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงอะไร เศรษฐกิจจะฟื้นช้าด้วยสารพัดเหตุผล กว่าจะค้นพบวัคซีนน่าจะเกิน 2 ปี หลังจากนั้นเชื่อว่าจะไม่มีโรคระบาดใหญ่ๆแบบโควิด-19 แต่ถ้าจะเกิดใหญ่ๆแบบนี้เราจะมีบทเรียนในการเตรียมการได้ เราจะปิดพรมแดนอย่างรวดเร็ว ภายใต้เหตุการณ์แบบนี้จะเตรียมโลกอย่างไร จะเตรียมการอย่างไร"
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหอการค้าไทยได้ทำเรื่องสำคัญคือช่วยรัฐบาลในการเปิดเมืองทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญกลับมา แต่เรื่องต่อไปคือทำอย่างไรไม่ให้คนตกงาน ออกจากตลาดงานนานเกินไป ซึ่งก่อนโควิดเราไม่ค่อยมีปัญหานี้ แต่ช่วงนี้จำนวนคนว่างงานจะสูงขึ้น ทำอย่างไรถ้าเศรษฐกิจฟื้นแล้วให้คนเหล่ากลับมาเป็นกำลังสำคัญ ทำอย่างไรให้รัฐบาลสร้างงานตอนนี้ และสร้างงานโดยเอาคนที่ตกงานตอนนี้ไปเป็นงานที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต เป็นงานที่มีประโยชน์ในอนาคต โดยรัฐบาลอาจจะเอาเงินก้อนหนึ่งมาจ้างคนที่มีทักษะด้านไอทีไปสอนคนในการใช้ไอทีกับธุรกิจขนาดเล็กให้ค้าขายออนไลน์ได้ ค้าขาย E-commerce งานพัฒนาฐานข้อมูล หรืออาจจะเอาเงินของรัฐไปสนับสนุนการฝึกงานกับภาคเอกชนในสาขาที่มีความต้องการ เช่น อาชีพหมอและพยาบาล เพราะแนวโน้ม Medical Tourism น่าจะมาแรงแต่ถ้าบริหารไม่ดีก็จะแย่งสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทย นอกจากนี้ส่งเสริมให้ภาครัฐลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ตัดคอกฎหมายที่ไม่มีประโยชน์จะเป็นวิธีการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยไม่ต้องใช้เงิน และจะมีผลดีในระยะยาวด้วย