ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดทิศทางบาทช่วงที่เหลือของปีนี้ยังแข็งค่าในกรอบ 31.00-31.50

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2020 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าไปอยู่ในกรอบ 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์ฯ ได้ในช่วงที่เหลือของปี 2563 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเน้นการดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผิดไปจากปัจจัยพื้นฐาน เพื่อเลี่ยงผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ จากสัญญาณล่าสุด สะท้อนว่า ธปท.น่าจะอยู่ระหว่างการติดตามธุรกรรมทางการเงินที่อาจจะมีผลต่อความผันผวนของเงินบาทใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.ธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำ โดยเฉพาะในช่วงที่ปริมาณการส่งออกทองคำยังอยู่ในระดับสูง และ 2. การทยอยกลับเข้าซื้อพันธบัตรระยะต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งสะท้อนการกลับเข้ามาพักเงินระยะสั้นอีกครั้งของนักลงทุนต่างชาติ และอาจพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์ของเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ยังไม่นิ่ง ขณะที่เหตุจลาจลอาจทำให้ความเสี่ยงในการระบาดระลอกสองเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งย่อมเป็นผลเสียต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และในอีกด้านหนึ่ง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็คงต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมาก ซึ่งทำให้ยังต้องรอประเมินโอกาสที่เฟดจะใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ ปริมาณเงินดอลลาร์ฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยลบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประเทศอื่นๆ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เป็นช่วงระยะเวลาสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ซึ่งในจังหวะเวลาดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติก็มีสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน

ขณะที่ภาพในอีกด้านหนึ่ง เงินบาทกลับทยอยแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย.63 เป็นต้นมา จากผลของเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงตามสัญญาณพร้อมผ่อนคลายด้วยทุกเครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกอบกับมีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ที่ส่งผลทำให้เงินบาทมีแรงหนุนในด้านแข็งค่ามากขึ้น

โดยปัจจัยที่เป็นแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ได้แก่ การส่งออกทองคำสุทธิ, การปรับสถานะเงินฝากและเงินลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวม FIF และนักลงทุนไทย, บริษัทในเครือจากตปท.ส่งสภาพคล่องกลับ และการชำระคืนสินเชื่อทางการค้าจากคู่ค้าต่างประเทศ ซึ่งทำให้ทิศทางเงินบาทในระยะข้างหน้ายังมีโอกาสแข็งค่าอยู่ จากการที่เศรษฐกิจไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ราว 4.9% ของ GDP ตามประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แม้ว่าการส่งออกและท่องเที่ยวจะหดตัวลงไปมากก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ