นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด–19 ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในภูมิภาค หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัวถึง 3% โดยได้ออกแผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19
สำหรับแผนดังกล่าว เป็นแผนงานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมให้การเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็น ได้แก่ อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยจะหลีกเลี่ยงการออกมาตรการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและอาจเป็นอุปสรรคทางการค้า จะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้มาตรการด้านการค้าทันที และจะส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้อาเซียนพร้อมรองรับความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ติดตามการดำเนินการตามแผนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป "รัฐมนตรีเศรษฐกิจยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN–BAC) โดยภาคเอกชนได้เสนอแนวทางการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในระยะสั้น และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดใหญ่ในระยะยาว โดยที่ประชุมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อร่วมจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับแผนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป"
นายสรรเสริญกล่าวว่า ส่วนผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) ที่ประชุมได้ร่วมกันออกถ้อยแถลงว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเน้น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.รักษาตลาดที่เปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุน เพื่อเสริมสร้างการฟื้นตัวและความยั่งยืนของห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาค 2.แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการ 3.อำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจในภูมิภาคตามนโยบายของแต่ละประเทศโดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุข 4.สนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSME ในการใช้เทคโนโลยีและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5.ฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านเวที RCEP โดยผลักดันลงนามให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
"รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มอบให้เจ้าหน้าที่ร่วมมือกันริเริ่มโครงการที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด–19 คลี่คลายลง เพื่อสร้างเสถียรภาพต่อการผลิตและห่วงโซ่การผลิตของสินค้าและบริการในภูมิภาค พร้อมเน้นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคในช่วงภาวะฉุกเฉิน การเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และย้ำถึงคำมั่นที่จะลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ในปีนี้"นายสรรเสริญ กล่าว