SCB EIC หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ -7.3% จากเดิมคาด -5.6% หลังท่องเที่ยว-ส่งออกหดตัวแรงจากโควิด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 5, 2020 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 ลดลงมาอยู่ที่ -7.3% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ -5.6% จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลายช่องทาง โดยเฉพาะปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจโลก คือ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากและมีแนวโน้มหดตัวลงแรง

โดยในปี 63 EIC ประเมินว่า ภาคการส่งออกของไทยจะติดลบ -10.4% ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะลอตัว ซึ่ง EIC ได้ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจโลกในปี 63 ลงเป็น -4% จากเดิมที่ -3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 90 ปี ตั้งแต่ Great Depression ในปี 1930 ประกอบกับโควิด-19 ได้ทำให้เกิดปัญหาด้าน supply chain disruption ที่จะมีมากในช่วงที่หลายประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้มีอุปสรรคในการผลิตสินค้าและขนส่ง อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-shape ส่งผลให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามไปด้วย

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงเหลือ 9.8 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 13.1 ล้านคน เนื่องจากมีการปิดน่านฟ้าของไทยที่นานขึ้นถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 63 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2/63 ติดลบเกือบ 100% ส่วนในไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป คาดว่าหากมีการเปิดน่านฟ้าไทยและการทำ Travel Bubble กับประเทศคู่ค้า อาจจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาบ้าง แต่เป็นไปอย่างช้าๆ เพราะภาครัฐของทุกๆ ประเทศยังต้องควบคุมดูแลโรคระบาดให้นิ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ขณะที่ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้อย่างเต็มที่ เพราะภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ ทำให้มีจำนวนเที่ยวบินลดลง แต่ยังต้องหวังการท่องเที่ยวระยะใกล้ของคนในประเทศที่จะเริ่มกลับมาก่อน

ด้านการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการอัดฉีดเงินให้แก่ภาคครัวเรือน แต่ยังมองว่าการจับใจ่ายและการบริโภคภาคครัวเรือนจะชะลอตัวอยู่ ซึ่งประเมินว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในปี 63 หดตัว -1.8% เพราะรายได้ของครัวเรือนลดลง หลังจากการจ้างงานและระยะเวลาในการทำงานลดลง ประกอบกับค่าแรงของแรงงานไทยโดยเฉลี่ยคงที่มาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 14,000 บาท/เดือน และเพิ่มขึ้นเพียง 1% ต่อปีใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ สะท้อนภาพของกำลังซื้อที่ลดลงตาม รวมไปถึงประชาชนเริ่มหันมาออมมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความไม่แน่นอนในอนาคต ทำให้การใช้จ่ายลดลง ประกอบกับความเปราะบางทางการเงินของภาระหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง

"เศรษฐกิจไทยเห็นการอ่อนแรงมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีก่อนที่เจอปัจจัยสงครามการค้า การ Disruption ซึ่งจากข้อมูลของสภาพัฒน์ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/62 ก็เริ่มติดลบแล้ว และไตรมาส 1/63 ออกมาติดลบ -1.8% แม้ว่าเราจะเพิ่งเข้าช่วงล็อกดาวน์ในปลายเดือนมี.ค. ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาเต็มๆ ซึ่งมองว่าในไตรมาส 2/63 จะเป็นจุดต่ำสุด ซึ่งคาดว่า GDP จะติดลบ -12% จากผลกระทบของภาคท่องเที่ยวที่หายไป และจากการติดลบของเศรษฐกิจไทยที่ต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณเข้าสู่ภาวะภาวะถดถอย" นายยรรยง กล่าว

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี และพร้อมใช้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ และความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ธปท.จะให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุนทางการเงินและการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อประคับประคองฐานะทางการเงิน สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

หากแนวโน้มเศรษฐกิจปรับแย่ลงกว่าคาดมาก คาดว่า ธปท.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้เพิ่มเติม แต่ด้วย policy room ด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีน้อยลง จะทำให้ ธปท. ต้องพึ่งพาเครื่องมืออื่นๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional มากขึ้น เช่น การซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อช่วยดูแลดอกเบี้ยในตลาดให้อยู่ในระดับต่ำ การต่ออายุหรือปรับเงื่อนไขเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของมาตรการความช่วยเหลือที่ได้ออกมาก่อนหน้า การลดค่าธรรมเนียม FIDF เพิ่มเติม เป็นต้น

ในส่วนของค่าเงินบาท EIC คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 63 อยู่ในช่วง 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาก จากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ จะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะไม่อ่อนค่ามากนัก เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะไม่แข็งมากเหมือนในช่วงต้นไตรมาส 2/63 ที่เกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงินโลก เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดี และเริ่มทยอยเปิดเมือง ทำให้ความกังวลของนักลงทุนต่อความเสี่ยงในตลาดการเงินลดลง นอกจากนั้น เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดการเงินไทยค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การไหลออกของเงินทุนในปริมาณมากในระยะต่อไปมีโอกาสน้อยลง

สำหรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าที่สำคัญ คือ โอกาสในการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ที่อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักอีกครั้ง ขณะที่สงครามการค้าโลกที่อาจรุนแรงขึ้นและกระทบต่อปริมาณการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และยุโรป

ขณะที่ความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศ และระดับธุรกิจที่มีภาระหนี้ต่อรายได้สูงขึ้นมาก อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นำไปสู่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ และความเสี่ยงในประเทศด้านความเปราะบางทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยที่อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพภาคการเงิน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ