ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยโควิดกระตุ้นอุตฯ แปรรูปอาหารสู่ระบบ Automation ลดพึ่งพาแรงงาน-เพิ่มมาตรฐานปลอดภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 5, 2020 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมการผลิตในหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบเชิงห่วงโซ่อุปทานจนประสบภาวะชะงักงัน ซึ่งนอกเหนือจากสาเหตุเกี่ยวกับการขาดแคลนสินค้าขั้นกลางและอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วแล้ว ปัจจัยด้านสุขอนามัยของแรงงานก็มีส่วนสร้างคอขวดให้โรงงานไม่สามารถดำเนินการผลิตได้เต็มที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานอย่างเข้มข้น โดยรวมไปถึงอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งแม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงด้านแรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการจำต้องหันกลับมาพิจารณาลดการพึ่งพิงแรงงานให้น้อยลง โดยแนวทางหนึ่งคือการใช้งานระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ยังสามารถลดปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการที่คนไทยรุ่นใหม่มักไม่นิยมทำงานในโรงงานแปรรูปอาหารเพราะเป็นงานยากลำบาก ในขณะที่การใช้แรงงานต่างด้าวก็อาจเผชิญปัญหาแรงงานไหลกลับประเทศในอนาคตจากการพัฒนาที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน

นอกจากด้านการผลิตแล้ว ในมุมมองผู้บริโภค การใช้งานระบบ Automation ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์ความกังวลของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมจากช่วงก่อนการระบาดของโควิด ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมักมองหาผลิตภัณฑ์ด้านอาหารแปรรูปที่มีกระบวนการผลิตที่น่าเชื่อถือ และมีบรรจุภัณฑ์ที่ดูสะอาดและปลอดภัย ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าวน่าจะยังคงอยู่และคงความเข้มข้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในมิติดังกล่าว ผ่านการนำระบบ Automation มาใช้งานเพื่อเป็นส่วนเสริมประสิทธิภาพให้กับมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตอาหารอย่าง GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่เป็นพื้นฐานและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การนำระบบ Automation มาใช้งานในการแปรรูปอาหารจะสามารถลดจำนวนแรงงานลงได้เฉลี่ยราว 11.2 คนต่อทุกเงินลงทุน 1 ล้านบาทในระบบดังกล่าว

การปรับตัวของผู้ประกอบการโดยการนำระบบ Automation มาใช้งานอย่างเหมาะสมตามสภาพการดำเนินธุรกิจของตนดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกเหนือจากจะสามารถตอบโจทย์การลดการพึ่งพาแรงงาน และยกระดับคุณภาพรวมถึงเพิ่มความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตได้ในระยะยาวแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคบางอย่างในกระบวนการผลิตที่มักเผชิญเมื่อใช้แรงงานคน เช่น การบรรจุอาหารพร้อมรับประทานที่จำหน่ายเป็นแพ็คให้มีจำนวนชิ้นและน้ำหนักต่อแพ็คเท่าๆกัน ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ผลิตที่อาศัยแรงงานคนมาโดยตลอด โดยในหลายครั้งมักประสบปัญหาว่า ถ้าบรรจุได้น้ำหนักตามที่ต้องการ มักจะไม่ได้จำนวนชิ้น หรือถ้าได้จำนวนชิ้นตามที่ต้องการ แต่น้ำหนักบรรจุก็จะเกินกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ทำให้ผู้ผลิตต้องสูญเสียรายได้จากน้ำหนักที่บรรจุเกินไป ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความแม่นยำในการวัดและคำนวณรูปแบบการบรรจุที่ตอบโจทย์ดังกล่าวได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้งานระบบ Automation ยังทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารสายพานการผลิตตามความผันผวนของอุปสงค์และอุปทาน และลดความเสี่ยงด้านแรงงานโดยเฉพาะในจุดสำคัญบนสายพานการผลิตที่อาจทำให้กระบวนการผลิตโดยรวมหยุดชะงักลงได้ ตลอดจนสามารถตอบโจทย์การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ภายในโรงงานที่น่าจะยังคงอยู่หลังช่วงโควิดได้

นอกเหนือจากประเด็นด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในโดยใช้ระบบ Automation แล้ว ผู้ประกอบการยังควรที่จะต้องสร้างความมั่นใจและการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคถึงความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารที่มีมาตรฐานของตน โดยอาจนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้งาน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทุกจุดในห่วงโซ่อุปทาน และสามารถติดตามรายละเอียดของสินค้าได้ตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งเมื่อนำมาใช้งานควบคู่กับระบบฉลากอัจฉริยะในลักษณะของ QR Code ที่ติดบนแพ็กเกจของอาหารแปรรูปแล้ว ก็จะสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถสืบค้นรายละเอียดของสินค้าในแต่ละจุดของห่วงโซ่การผลิตผ่านสมาร์ทโฟนได้ เช่น การสืบหาแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารแปรรูปว่ามีการใช้พืชที่ตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) หรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดการปนเปื้อนในอาหารแปรรูป ระบบดังกล่าวยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการแปรรูปอาหารสามารถตรวจสอบย้อนกลับและระบุถึงที่มาของการปนเปื้อน รวมถึงล็อตการผลิตสินค้าที่มีปัญหาได้

แม้ว่าการใช้ระบบ Automation ในกระบวนการผลิตจะเป็นการลดการใช้แรงงานคนโดยรวม แต่ก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานคนบางส่วนเพื่อทำหน้าที่ควบคุมระบบ ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการผลิต รวมไปถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบ การเปลี่ยนแปลงบทบาทของแรงงานดังกล่าว ทำให้การพัฒนาฝีมือแรงงานให้สามารถทำงานร่วมกับระบบ Automation ได้จึงเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งควรจะมีการบูรณาการตั้งแต่ภาคการศึกษาไปจนถึงผู้ประกอบการในภาคการผลิต โดยอาจจัดหลักสูตรที่เน้นเรื่องการทำงานกับระบบ Automation ผ่านความร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และบริษัทผลิตหรือจัดจำหน่ายเครื่องจักรเพื่อสร้างหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติ และรองรับแนวโน้มการนำระบบ Automation มาใช้มากขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ