BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.35-31.75 จับตาประชุมเฟด 9-10 มิ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 8, 2020 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35-31.75 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.44 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งครั้งใหม่ ท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลเข้า ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 6.0 พันล้านบาท และ 1.44 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเงินยูโรแข็งค่าสูงสุดในรอบ 3 เดือน หลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินเป็น 1.35 ล้านล้านยูโร และขยายระยะเวลาไปถึงกลางปี 2564 รวมทั้งยังได้แรงหนุนหลังเยอรมันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.3 แสนล้านยูโร

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 9-10 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมแต่อาจส่งสัญญาณใช้เครื่องมือควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วงอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นมาแล้วกว่า 30 bps นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนขณะที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ต้องกู้เงินจำนวนมากจากตลาดเพื่อใช้เยียวยาเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมลดลง 3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน ส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคเนื่องจากเงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าไทยยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงินอีกทั้งเป็นการลดลงจากราคาพลังงานเป็นหลัก โดยธปท.ยังคาดว่าเงินเฟ้อปี 2564 จะกลับมาเป็นบวกแต่ยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจย่ำแย่กว่าที่ประเมินไว้มาก อนึ่ง ในระยะนี้ เรามองว่าแม้กระแสเงินทุนไหลเข้าเริ่มกลับมาในกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจากความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่นักลงทุนอาจระมัดระวังมากขึ้นต่อท่าทีของธปท.ที่ไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานรวมถึงกรณีการทำธุรกรรมของผู้ค้าทองคำที่กระทบอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งทางการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ