นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามอุดช่องโหว่ในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจและประชาชนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากคาดว่าผลกระทบจะมีมากขึ้นในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า โดยมอบหมายกระทรวงการคลังออกมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ โดยคาดว่าจะเห็นมาตรการใหม่ในไตรมาส 3/63
"ขณะนี้การกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวในประเทศสำคัญมาก เพราะขณะนี้การส่งออกพึ่งพาไม่ได้เลย ขณะที่คลายล็อกต่างประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับนายกรัฐมนตรี แต่การจับคู่ประเทศต้องเน้นประเทศที่ Clean Virus พอสมควร"นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ ได้ฝากที่ประชุมให้ไปพิจารณาทบทวน พ.ร.ก.ซอฟท์โลน และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือเอกชน ซึ่งมีปัญหาที่ผู้ประกอบการบางส่วนเข้าไม่ถึงสินเชื่อซอฟต์โลน เพราะการปล่อยสินเชื่อจะต้องทำผ่านระบบธนาคาร ดังนั้นอาจมีภาคธุรกิจบางส่วนติดขัดเงื่อนไข
ขณะที่ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพฯ ที่ให้อำนาจ ธปท.ตั้งกองทุนไปซื้อตราสารหนี้ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท เห็นว่าจะต้องมีจุดประสงค์ไม่ใช่ช่วยเหลือเฉพาะตราสารในระดับ Investment Grade เท่านั้น แต่ควรจะช่วยเหลือธุรกิจที่มีศักยภาพแต่มีปัญหาที่จะต้องรักษาเอาไว้ จึงฝากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หากลไกเข้ามาดูแลส่วนนี้ด้วย
"ตราสารหนี้ในระดับ Investment Grade ถูกจัดโดย บริษัท ทริส เรทติ้ง และ ฟิทช์ เรทติ้ง ซึ่งเป็นการจัดอันดับในภาวะเศรษฐกิจปกติ แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ คุณจะใช้วิธีการปกติมาจัดอันดับไม่ได้ มันจะมีกลุ่มธุรกิจที่ยังมีศักยภาพไปได้ แต่ไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งจุดประสงค์ของรัฐบาล ไม่ได้ต้องการช่วยเฉพาะธุรกิจที่มี Investment Grade เท่านั้น แต่ต้องช่วยธุรกิจไทยที่มีศักยภาพและรักษาเขาเอาไว้" นายสมคิด กล่าว
ขณะเดียวกัน ได้หารือกับ ก.ล.ต. จัดตั้งกองทุนที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือ โดยมีแนวคิดต้องมีคนมาลงขันในกองทุนเหล่านี้เพื่อมาลงทุนในบริษัทที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ขอมาตรการทางภาษีที่จูงใจให้สามารถระดมทุนก้อนนี้ ซึ่งรัฐบาลพยายามปิดช่องโหว่ในส่วนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งบุคคลธรรมดา ภาคธุรกิจ ขนาดเล็ก กลาง ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพากร ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม เรื่องมาตรการ เช่น ร้านค้าเปิดแล้วแต่คนไม่กล้าไปซื้อของ ยิ่งได้รับผลกระทบหนัก ร้านค้าต้องจ่ายเงิน ค่าใช้จ่าย แต่รายได้ไม่ดี อีกไม่ช้าจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการจูงใจเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือไม่
"แทนที่จะรอคนตกงานแล้วเยียวยา กระทรวงการคลังต้องเตรียมมาตรการรับภาระบางส่วนเรื่องการจ้างงาน เช่น บางกิจการห้ามไล่พนักงานออก แต่รัฐต้องช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายบางส่วนในหลายด้าน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ อย่าปลดพนักงาน เป็นการช่วยตั้งแต่ต้นงาน" นายสมคิด กล่าว
ในส่วนของประกันสังคมที่ยังพบข้อร้องเรียนอยู่เกี่ยวกับการจ่ายเงินเยียวยานั้น ได้มอบปลัดกระทรวงการคลังประสานกองทุนประกันสังคมเร่งดำเนินการ โดยยอมรับว่า อาจมีบางส่วนยังช่วยเหลือไม่ครบ ก็สั่งให้ติดตามและประสานให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างครบถ้วน
พร้อมกับฝากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้เร่งพิจารณาโครงการใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท โดยระบุว่าโครงการใดที่ไม่มีคุณภาพไม่ต้องให้ ให้แต่ที่มีคุณภาพ เงินไม่หมดไม่เป็นไร ปรับเป็นเงินเยียวยาได้ เมื่อรวมกับหน่วยงานต่าง ๆ เชื่อ ไตรมาส 3 เม็ดเงินจะลงไปหล่อเลี้ยงได้พอสมควร
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า โจทย์วันนี้ คือ การดูแลภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่อเนื่องจากที่ได้ดูแลมาแล้วระดับหนึ่ง โดยมองไปอีกใน 6 เดือนข้างหน้า หลังจากเศรษฐกิจปรับปลี่ยนไป แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะปรับตัวอย่างไร และต้องการการสนับสนุนด้านใดจากภาครัฐ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือคงไม่จำกัดแต่ตัวเงิน อาจมีด้านอื่นๆ ด้วย โดยจะมีการเชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย มาร่วมหารือเพื่อปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่
รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดไตรมาส 2/63 และอยู่ระหว่างเร่งเข็นมาตรการในช่วงที่เหลือต่อจากนี้ โดยอยากให้มาตรการที่จะออกมามีผลในไตรมาส 3/63 เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการจนถึงสิ้นปี โดยไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาตรการ"ชิม ช็อป ใช้"มาใช้อีกครั้ง โดยอาจจะเป็นมาตรการอื่นๆ ส่วนจะยึดโยงกับการท่องเที่ยวหรือไม่ อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด
ส่วนประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะภายในพรรคพลังประชารัฐจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนหรือไม่นั้น นายอุตตม กล่าวว่า คิดว่าผู้เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่กระทรวงการคลัง แต่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมทั้งทุกกระทรวง ต้องช่วยกันทำงานเพื่อสร้างความมั่นใจ
ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้ก็คือโครงการต่างๆต้องมีความก้าวหน้าออกมาให้เห็น อย่างที่พูดว่าหากกระทรวงการคลังรับมาดูแลมาตรการเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนก็ต้องมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3/63 ต้องมีความคืบหน้าให้เห็น นี่คือสิ่งที่ทำให้มั่นใจ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้
"งานทั้งหลายที่จะออกมาต้องทำให้ผู้ประกอบการ ประชาชนสัมผัสได้ว่ามาตรการออกมาแล้วได้รับการช่วยเหลือ นี่คือหัวใจของความมั่นใจ ไม่ใช่เรื่องข่าวลือ โน่น นี่ นั่น ซึ่งข่าวลือมันมี ห้ามไม่ได้ แต่ก็อยากจะขอว่า เรามาโฟกัสด้วยกันตรงนี้ว่าเอางานออกมา เวลานี้หัวเลี้ยวหัวต่อมากนะประเทศไทย ขอเรื่องนี้ก่อน อย่างที่เรียนว่า ข่าวลือมีทั่วไป ที่ผมกำลังพูดคือ เราโฟกัสที่งานเท่านั้นเอง"นายอุตตม กล่าว