ครม.อนุมัติตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC บูรณาการด้านวิจัย&พัฒนา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2020 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (National Energy Technology Center : ENTEC) เป็นหน่วยงานเฉพาะทางในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเป็นศูนย์รวมการบูรณการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศและนานาชาติ ให้สามารถเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่มุ่งเน้นการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง (Translational Research) ในภาคอุตสาหกรรมและขยายผลไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งการพัฒนาสาขาพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พัฒนานวัตกรรมการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรองรับขอเสียที่หลากหลายจากภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และการเกษตร กลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนได้

แต่ปัจจุบันหน่วยงานด้านพลังงานในประเทศยังอยู่อย่างกระจัดกระจายในหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีโหละและวัสดุแห่งชาติ (ศว.) พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลมาตรฐาน EURO V และพลังงานลม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) พัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับเซลล์แสงอาทิตย์ โดยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ขณะที่รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนก็มีการทำวิจัยของตนเองเป็นบางส่วน อีกทั้ง ยังขาดสถาบันวิจัยด้านพลังงานที่มีการวิจัยแบบเต็มแวลาและครอบคลุมในหลายสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ได้กำหนดกรอบการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไว้ 5 ด้าน โดยดำเนินการช่วงระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ.2563-2567) ดังนี้ 1)พลังงานหมุนเวียน เน้นการพัฒนาวิจัยด้านพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนอื่นที่มีศักยภาพ เช่น พลังงานลม เชื้อเพลิงชีวภาพ

2)ระบบเก็บกักพลังงาน เน้นการพัฒนาวิจัยด้านแบตเตอรี่และซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ (ตัวเก็บประจุที่มีขนาดความจุมากกว่าชนิดปกติ ใช้ในรถไฮบริดและโครงการพลังงานทดทนต่างๆ) เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การผลิตวัสดุตั้งต้นเซลล์ การนำไปใช้งาน จนถึงการจำกัด

3)พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เน้นการพัฒนาวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อผลิตน้ำมันที่มีมาตรฐานสูงขึ้น เช่น EURO 5 และ EURO 6

4)การจัดการระบบพลังงาน เน้นการวิจัยเทคโนโลยี ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Micro grid) บูรณาการการนำพลังงานทดแทนและระบบกักเก็บพลังงานเข้าสู่ระบบไฟฟ้า

5)การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เน้นวิจัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางไฟฟ้าและประสิทธิภาพทางความร้อน และการใช้ประโยชน์จากของเสียหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมพลังงาน

ทั้งนี้ การดำเนินงานของศูนย์ฯ จะบูรณการร่วมกับกระทรวงพลังงาน หน่วยงานวิจัยด้านพลังงานของประเทศที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยของทั้งภาครัฐและเอกชน ในส่วนของอัตรากำลัง จะไม่มีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นบุคลากรเดิมที่ปฏิบัติงานด้านพลังงานของ สวทช. โดยบริหารจัดการอัตรากำลังให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ความท้าทายของสาขาพลังงาน คือ การจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตและการลดการนำเข้า ซึ่งประเทศไทยนำเข้าพลังงานคิดเป็นร้อยละ 60 ของพลังงานที่ใช้ในประเทศ มีเพียงร้อยละ 15 ที่ผลิตได้ในประเทศ มาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน และการดำเนินการของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ตามเป้าหมายในระยะ 5 ปีแรกนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1)สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ 10,000 ล้านบาท โดยมาจากหลายองค์ประกอบ เช่น การลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การลดต้นทุนการผลิต การสร้างรายได้เพิ่ม 2)สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 10 ราย 3)สร้างเครื่อข่ายทางด้านพลังงานภายในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 60 พันธมิตร 4)มีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ทั้งในด้านวิจัยและด้านเทคนิคของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติไม่น้อยกว่า 120 ราย และ 5)สามารถพัฒนาการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีเชิงลึก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ