นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า โครงการความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยังคงเร่งดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการและกลุ่มลูกค้ารายย่อยอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการกระจายสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มากขึ้นหลังจากที่เดินหน้าโครงการดังกล่าวมาแล้วประมาณ 1 เดือน โดยสถาบันการเงินมีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 66,592 ล้านบาทให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 41,057 ราย (ณ วันที่ 1 มิ.ย. 63)
ในจำนวนข้างต้นเป็นการช่วยเหลือ SMEs รายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท ประมาณ 30,693 ราย หรือราว 74.8% ของลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการ Soft Loan ขณะที่เอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีวงเงินสินเชื่อในช่วง 20-100 ล้านบาท และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อในช่วง 100-500 ล้านบาทได้รับการกระจายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแล้ว จำนวน 7,660 ราย และ 2,704 รายตามลำดับ
นอกจากนี้อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของสถาบันการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ การเดินหน้ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ซึ่งภาพรวมจนถึงวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าและช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยไปแล้วจำนวน 15.11 ล้านราย คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.68 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ประมาณ 57% เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้เอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วน 32% และ 11% ตามลำดับ
ขณะที่ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อในโครงการ บสย. สร้างไทยจนเกือบเต็มวงเงินโครงการที่ 5 หมื่นล้านบาท ให้กับลูกค้า 20,952 ราย และโครงการสินเชื่อ Soft Loan ผ่านธนาคารออมสินในวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาทแล้ว
ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยเชื่อมั่นว่าธนาคารพาณิชย์ต่างตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือลูกค้า และอยู่ระหว่างเร่งพิจารณาคำขอและอนุมัติสินเชื่อที่สามารถเข้าร่วมโครงการ Soft Loan ของธปท. และโครงการความช่วยเหลืออื่นๆของทางการสำหรับลูกค้ากลุ่มอื่นด้วย เช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
"ทั้งหมดเป็นช่องทางการช่วยเพิ่มสภาพคล่องที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการช่วยปรับโครงสร้างให้กับลูกค้าและแนวทางอื่นๆของแต่ละธนาคาร เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเม็ดเงินสภาพคล่องเพื่อประคับประคองกิจการ และเตรียมความพร้อมสำหรับการพลิกฟื้นกิจการในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระยะฟื้นฟูในระยะถัดไป"นายปรีดี กล่าว