นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้การใช้บริการสั่งสินค้าและอาหารผ่านแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มต่างๆ แบบดิลิเวอรีมีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการร้านค้าทั่วไปต่างนำเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการร้านค้า เชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์สร้างฐานลูกค้าประจำ ขยายฐานลูกค้าใหม่ และเพิ่มยอดขายในระยะยาว โดยมีสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน คือ การเชื่อมโลกออฟไลน์เข้ากับโลกออนไลน์อย่างลงตัว ผ่านระบบดิลิเวอรีที่จะช่วยสร้างผลกำไรให้ธุรกิจในระยะยาว และขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ธุรกิจแฟรนไชส์ที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก้าวทันโลกธุรกิจ ก็จะสามารถเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคได้อย่างไม่ยากด้วยเช่นกัน
ธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นหนึ่งในโมเดลของรัฐบาลในการนำเอามาสร้างอาชีพให้กับประชาชนหลังวิกฤตโควิด-19 เพราะแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ลงทุนง่าย ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ปฏิบัติตามระบบที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนดเอาไว้ก็สามารถเปิดร้านขายได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาสร้างแบรนด์ ทำการตลาด เพราะเจ้าของแฟรนไชส์ หรือ "แฟรนไชส์ซอร์" ได้ออกแบบระบบที่มีมาตรฐาน และจัดทำคู่มือที่พร้อมให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามอย่างง่ายดาย
ที่ผ่านมา มีธุรกิจเข้ารับการประเมินและผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินจากกรมฯ และจำนวนทั้งสิ้น 334 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจอาหาร จำนวน 157 ราย ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 65 ราย ธุรกิจการศึกษา จำนวน 43 ราย ธุรกิจบริการ จำนวน 36 ราย ธุรกิจความงามและสปา จำนวน 15 ราย และธุรกิจค้าปลีก จำนวน 18 ราย
โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้คัดเลือกผู้ประกอบการ จำนวน 40 ราย ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ด้านการบ่มเพาะองค์ความรู้และทักษะการสร้างมาตรฐานธุรกิจ รวมถึงจะมีผู้เชี่ยวชาญประเมิน วิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละธุรกิจ ที่สำคัญยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ เป็นรายธุรกิจ และเสริมในเรื่องการศึกษาดูงานธุรกิจที่เป็นต้นแบบที่ดี
"รูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เหมาะสำหรับลงทุนในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ก็คือ แฟรนไชส์ขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ใช้พนักงานจำนวนน้อย และสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแฟรนไชส์ในรูปแบบคีออส หรือ ซุ้มร้านค้าที่ใช้พื้นที่ไม่เยอะ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ทำให้ผู้คนนิยมซื้อสินค้ากลับบ้านแทนการนั่งในร้าน นอกจากนี้ แฟรนไชส์ขนาดเล็กจะใช้พื้นที่ไม่มากทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่จะอยู่ในแหล่งชุมชน หรือตามตลาดนัดทั่วไป จึงทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อของได้สะดวก"นายวุฒิไกร กล่าว