นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขอให้ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อม หลังกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Health Labour and Welfare : MHLW) ได้ประกาศรายการสารที่อนุญาตให้ใช้ (positive list) ในวัสดุและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้สัมผัสอาหาร โดยระบบ positive list มุ่งเน้นควบคุมวัตถุดิบที่ใช้ในวัสดุและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้สัมผัสอาหารตามรายการที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า
โดยประกาศฉบับนี้ได้กำหนดรายการสารที่อนุญาตให้ใช้ในวัสดุพลาสติกที่สัมผัสอาหารจำนวน 4 รายการ ได้แก่ (1) สารในวัสดุสัมผัสอาหารที่มีโพลิเมอร์เป็นฐาน (2) สารเคลือบวัสดุที่สัมผัสอาหาร (3) สารตั้งต้นโมโนเมอร์ที่ใช้ในการผลิตพลาสติกที่มีโพลิเมอร์เป็นฐาน และ (4) สารเติมแต่ง
ขณะที่สารที่ไม่อยู่ในรายการดังกล่าวสามารถใช้กับวัสดุที่ไม่ได้สัมผัสกับอาหารโดยตรงได้ ในกรณีที่สารสัมผัสกับอาหารโดยไม่ตั้งใจ สารนั้นจะต้องมีความเข้มข้นไม่เกิน 0.01 mg/kg โดย MHLW ได้กำหนดระยะเวลาปรับตัวให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสำหรับกรณีวัสดุพลาสติกสัมผัสอาหารที่ผลิตและนำเข้าก่อนวันที่ 1 มิ.ย.63 จะอนุญาตให้วางจำหน่ายจนกว่าสินค้าจะหมดหรือวางจำหน่ายได้จนถึงวันที่ 31 พ.ย.68
ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติการส่งออกพบว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มสินค้าภาชนะบรรจุอาหารที่ทำด้วยวัสดุพลาสติกไปญี่ปุ่น (พิกัด 392310) ในช่วงปี 2559-2561 มูลค่า 2,328 2,355.7 และ 2,236.9 ล้านบาทตามลำดับ โดยล่าสุดในปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 1,664.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน