กมธ.ยันคำนิยามคนต่างด้าวตามที่พาณิชย์เสนอ ดันกม.เข้าสนช.วาระ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2007 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เสร็จสิ้นการพิจารณารายละเอียดการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแล้ว โดยยืนยันในหลักการตามการแก้ไขเพิ่มเติมที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมา เช่น คำนิยามคนต่างด้าว ในประเด็นสัดส่วนการถือหุ้นที่จะต้องพิจารณาควบคู่กับสิทธิการออกเสียง
สำหรับบทเฉพาะกาลที่ให้ผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงคำนิยามคนต่างด้าวปรับตัว โดยบัญชี 1 หรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับความมั่นคง และบัญชี 2 เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 3 ปี หลังจากนั้นต้องปรับโครงสร้างให้ถูกต้อง ส่วนบัญชี 3 หรือธุรกิจบริการที่คนไทยยังไม่พร้อมให้มาแจ้งต่อนายทะเบียนและประกอบกิจการไปได้ตลอดจนกว่าจะเลิกกิจการ
ส่วนที่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเป็นเรื่องของผู้แทนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ราย จากเดิมให้เป็นการคัดเลือกเข้ามาทั้งหมด แต่เปลี่ยนเป็น 3 ใน 5 รายให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ส่งตัวแทนเข้ามา นอกนั้นเป็นตัวแทนจากภาครัฐ โดยให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรรมการมาจากปลัดกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, แรงงาน, ต่างประเทศ, คลัง, มหาดไทย, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น
หลังจากนี้ คณะกรรมการธิการวิสามัญฯจะนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมของ พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. เพื่อรับหลักการอีกครั้ง แม้ว่าจะมีผู้ขอแปรญัตติเพื่อให้ปรับเปลี่ยนคำนิยาม โดยเพิ่มอำนาจการบริหารจัดการร่วมกับสัดส่วนการถือหุ้น และสิทธิในการออกเสียง แต่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าคำนิยามดังกล่าวเหมาะสมแล้ว
นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ เลขานุการรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการบางรายยังต้องการให้ปรับแก้นิยาม โดยเพิ่มประเด็นอำนาจในการบริหารจัดการบริษัทเข้าไป แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะไทยยังต้องการเทคโนโลยีและทักษะการบริหารงานจากต่างชาติ ซึ่งจะมีปัญหาในกรณีบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและต่างชาติที่มีคนไทยเป็นเจ้าของแต่ว่าจ้างให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนเป็นผู้บริหารงานเพราะมีทักษะดีกว่าคนไทย ดังนั้น หากเพิ่มประเด็นอำนาจในการบริหาร ต่อไปก็ไม่สามารถจ้างต่างชาติมาบริหารงานได้
เหตุผลดังกล่าวจะนำไปชี้แจงในการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว วาระ 2 ของสนช. ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นว่าควรเพิ่มเรื่องสิทธิในการบริหารลงไปในคำนิยามหรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ ขั้นตอนต่อไปก็จะเสนอให้สนช.โหวตรับหลักการอีกครั้งในการประชุมวาระ 3 จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศบังคับใช้กฎหมายต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ