นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดรฟม. วันนี้( 11 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบขยายเวลา มาตรการลดค่าครองชีพ การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เหลือ 14-20 บาท ออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่ 1 ก.ค. ถึง 30 ก.ย.2563) ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วงสถานการณ์โควิด-19
แม้ว่ารายได้ที่ลดลงจาก การปรับลดค่าโดยสารสายสีม่วง เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลงจาก สถานการณ์โรคโควิด-19 จากปกติ ช่วงปี 62 ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยถึง 6 หมื่นคน/วัน แต่จะไม่มีผลกระทบต่อภาวะการเงินของรฟม.
โดยล่าสุดผู้โดยสารสายสีม่วงเริ่มเพิ่มขึ้น อยู่ที่กว่า 3 หมื่นคน/วัน แต่เนื่องจากยังมีมาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้การรองรับผู้โดยสารในแต่ละขบวนมีจำกัด ซึ่งบอร์ดจึงให้ผู้ว่าฯ รฟม.วิเคราะห์สถานการณ์ผู้โดยสารช่วงครึ่งหลังปี 63 จนถึงกลางปี 64 และเก็บข้อมูลกลุ่มผู้โดยสารที่ผู้ใช้บริการตามมาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณามาตรการหลังจากสิ้นสุดเดือนก.ย. นี้ต่อไป
นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการของรฟม. ที่อยู่ระหว่างการเตรียมโครงการ เช่น รถไฟฟ้าในภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และนครราชสีมา. ซึ่งยังไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมของของประชาชนได้ตามขั้นตอน รฟม. จึงต้องปรับแผนงานตามตารางการดำเนินโครงการออกไปอีกอย่างน้อยประมาณ 3 หรือ 6 เดือน รวมถึงทบทวนการศึกษาในบางประเด็นที่ได้รับผลกระทบ เช่น ปริมาณผู้โดยสาร ที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากการศึกษาเดิม ทั้งนี้เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่ามากที่สุด
สำหรับการปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทุก 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ค. 63 ตามสัญญาสัมปทานอีก 1 บาท โดยนโยบายรมว.คมนาคมต้องการให้ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งบอร์ดรฟม.ได้อนุมัติตามเงื่อนไข โดย บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้มีหนังสือให้ความร่วมมือในการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิมที่ 16 และสูงสุด 42 บาท ต่อไปจนถึงสิ้นปี63 โดยไม่มีการสงวนสิทธิ์ใดๆ
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสาร 38,000 คน/วัน สายสีน้ำเงิน มี 210,000 คน/วัน เพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายระยะที่ 4 ซึ่งในส่วนของระบบรถไฟฟ้าคาดว่าจะมีการคลายมาตรการเว้นระยะห่าง จะทำให้รถไฟฟ้าสามารถรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 70% ของความจุ หรือประมาณ 500 คน/ขบวน จากปัจจุบัน รับได้เพียง 200-250 คน/ขบวน ขณะที่ ช่วงปกติที่รองรับสูงสุดได้ถึง 800-1,000 คน/ขบวน