อังค์ถัดชี้ปัญหาสมองไหลเป็นอุปสรรคของการเติบโตในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา

ข่าวต่างประเทศ Friday July 20, 2007 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          องค์การที่ประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรืออังค์ถัด (UNCTAD) ชี้ว่า การอพยพโยกย้ายของแรงงานและนักวิจัยที่มีทักษะ และการขาดแคลนการสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วในด้านการวิจัยและพัฒนานั้น กำลังเป็นอุปสรรคของการขยายตัวในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา
รายงานของอังค์ถัดชื่อ ''The Least Developed Countries Report 2007'' ระบุว่า ประชาชนที่มีการศึกษาในระดับวิทยาลัยหรือสูงกว่านั้นประมาณครึ่งหนึ่งที่อยู่ในประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด 5 ประเทศ รวมถึงไฮติและโซมาเลีย ได้เดินทางไปหางานและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว
รายงานชี้ว่า ประเทศด้อยพัฒนาที่สุด 5 ประเทศมีประชากร 4 ล้านคนหรือสูงกว่านั้น ได้แก่ ไฮติ โซมาเลีย เอริเทรีย โมซัมบิค และเซียร่าลีโอนนั้น เป็นกลุ่มประเทศท็อปเท็นในโลกในแง่ของอัตราการอพยพเมื่อปี 2543
จากข้อมูลของ UNDP และธนาคารโลกนั้น อังค์ถัดระบุว่า จำนวนนักวิจัยต่อประชากร 1 ล้านคนในประเทศที่พัฒนาแล้วมีอยู่ 3,728 ราย ขณะที่จำนวนนักวิจัยในประเทศที่กำลังพัฒนาต่อประชากรจำนวน 1 ล้านคนมีอยู่เพียง 313 ราย ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนามีสัดส่วนนักวิจัยต่อประชากรอยู่เพียง 94 ราย
สัดส่วนประชาชนที่เล่าเรียนตามการศึกษาภาคบังคับในประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 68.7% ขณะที่อัตราดังกล่าวในประเทศด้อยพัฒนาอยู่ที่ 3.5% โดยช่องว่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและด้อยพัฒนาในแง่ของการศึกษาขั้นสูงและก่อนหน้านั้นยังมีช่องว่างในระดับสูง สำนักข่าวเกียวโดรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ