(เพิ่มเติม) กกร.เตรียมเสนอ 7 มาตรการระยะสั้น-4 มาตรการระยะกลาง รับมือปัญหาบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 16, 2007 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกร.สรุปมาตรการเพื่อรับมือและแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่จะเสสนอให้รัฐบาลพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ โดยแบ่งเป็น 7 มาตรการระยะสั้น และอีก 4 มาตรการในระยะกลางถึงระยะยาว 
ในวันนี้ กกร.จะนำข้อเสนอดังกล่าวให้นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ พิจารณาในการประชุมร่วมกันวันนี้ และเตรียมนำเสนอให้กับพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการระยะสั้น 7 ข้อ ประกอบด้วย เสนอให้บริษัทเอกชนไทยถือครองเงินตราต่างประเทศได้ไม่กำหนดระยะเวลา, ให้บุคคลธรรมดาถือเงินตราต่างประเทศไม่จำกัดเวลาเช่นกัน รวมทั้ง เพิ่มวงเงินถือครองเงินดอลลาร์ได้มากกว่า 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ, เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถใช้จ่ายและชำระสินค้าระหว่างกันเป็นเงินตราต่างประเทศได้
นอกจากนี้ ยังขอให้ภาครัฐเร่งคืนภาษีให้แก่ผู้ส่งออกตามมาตรา 19 ทวิ, ให้รัฐบาลผลักดันให้รัฐวิสาหกิจอาศัยช่วงเงินบาทแข็งค่าเร่งชำระหนี้ต่างประเทศ, การให้รัฐวิสาหกิจสั่งนำเข้าสินค้ามาสต็อกไว้ล่วงหน้า และการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย(SME)ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาท
ส่วนมาตรการระยะกลาง จนถึงระยะยาว 4 ข้อ ประกอบด้วย เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลค่าเงินบาท โดยบริหารจัดการเงินดอลลาร์ส่วนเกินที่ไหลเข้าประเทศ, สร้างแรงจูงใจและลดเงื่อนไขในการให้เอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ, ให้ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา และสุดท้ายให้รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็คต์เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับคืนมา
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เตรียมนำมาตรการระยะสั้น 7 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการเย็นนี้ ซึ่งหากรัฐบาลนำไปปฏิบัติ ก็เชื่อว่าจะส่งผลทางด้านจิตวิทยาให้ภาคเอกชนมั่นใจมากขึ้นว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท
ทั้งนี้จากการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในช่วงเช้า ได้พูดคุยถึงภาวะการส่งออกสินค้าของไทยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่ายังสามารถขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดใหม่ ในขณะที่ตลาดเก่าขยายตัวเพียง 1% และแนวโน้มการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ตะวันออกกลาง, ยุโรปตะวันออก, รัสเซีย และแอฟริกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ