นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท มีทั้งงานโยธาสายสีส้มตะวันตก และงานเดินรถตลอดทั้งเส้น ซึ่งจะออกหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์) ในเดือน ก.ค.63 และเปิดให้เอกชนยื่นประมูลในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะสรุปผลการประมูลได้ภายในสิ้นปี 63
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) จะเปิดประมูลงานโยธา มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทในเดือน ก.ย. นี้ และคาดว่ารู้ผลในปลายปีนี้ โดยยังรอการเปิดประมูลงานเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ราษฎร์บูรณะ-คลองบางไผ่)
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก งานโยธาสีส้มตะวันตก (บางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) เป็นมูลค่างานก่อสร้าง 9.6 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 68 ขณะที่จะให้มีการเดินรถในฝั่งสายสีส้มตะวันออกก่อนที่คาดว่าจะเปิดบริการเดินรถได้ในปี 66 ซึ่งงานก่อสร้างเป็นไปตามแผน
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงคมนาคมยังเดินหน้างานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง อย่างไรก็ดี โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ไม่สามารถทำได้ตามกำหนดเวลา เพราะมีความล่าช้าในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งผู้รับเหมาขอขยายเวลาก่อสร้างกว่า 500 วัน ในงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อทำให้ไม่สามารถเดินรถได้ตามกำหนดเวลาในปี 64
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม เห็นว่า การให้บริการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีแดงมีความเหมาะสมให้นำรูปแบบเอกชนร่วมทุน (PPP) ที่จะให้ระยะเวลา 30 ปี เพียงแต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการจะต้องไปคิดแบ่งสัดส่วนรายได้กับเอกชนอย่งไร และไม่ใช่เพียงโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเท่านั้น อย่างไรก็ตามเบื้องต้นผลการศึกษาการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงจะมีผลขาดทุนในช่วง 7 ปีแรก
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ รฟท.ไปบูรณาการกับหน่วยงานอื่นในการให้บริการรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ ที่จะให้มีการเชื่อมต่อโลจิสติกส์ทั่วประเทศ และใช้รูปแบบ PPP ให้ชัดเจน เพราะจะได้ไม่เป็นภาระกับสำนักงบประมาณมากนัก
ด้านนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาทที่มีทั้งงานโยธาและงานเดินรถ โดยขณะนี้ได้ออกแบบฐานราก ที่มีใช้พื้นที่ร่วมกับทางด่วนตอน N1 และ N2 ระยะทาง 7 กม. คาดจะส่งแบบที่แล้วเสร็จในกลางก.ค.นี้กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยรฟม.ได้จ่ายค่าก่อสร้างให้กทพ.สร้าง ซึ่งกทพ.จะประมุลงานก่อสร้าง
ขณะเดียวกัน รฟม.เตรียมจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำรายงาน PPP คาดว่าในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.63 และใช้เวลาประมาณ 6 เดือนทำรายละเอียด ดังนั้นคาดว่าจะสามารรถเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลได้ในปี 64