พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำคณะผู้บริหารเข้าพบเพื่อหารือและรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ด้วยการประสานเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบ New Normal
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการแก้ปัญหาระยะยาว ลดผลกระทบจากปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยดำเนินมาตรการต่างๆ ครอบคลุมทั้งเยียวยาและฟื้นฟู เช่น การลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วให้มีการขยายการปรับลดค่าไฟฟ้าลงเป็น 5% จาก 3% การลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% ในปี 63 การลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% ให้เหลือเพียง 1% และขยายระยะเวลาลดเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้างถึงวันที่ 31 ธ.ค. 63 เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและรักษาตำแหน่งงานในระบบ
รวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารและสถานบันการเงินของรัฐต่างๆ รวมทั้ง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งมาตรการที่ออกมาเพราะรัฐบาลตั้งใจดูแลประชาชนทุกกลุ่มทั้งผู้ประกอบการ SMEs แรงงานและเกษตรกร ล้วนเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น
"วันนี้คือการทำงานแนวใหม่ New Normal ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชน ลดปัญหา อุปสรรคและเน้นให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานให้เป็นมิติใหม่ของการทำงานเพื่อประเทศไทยอย่างแท้จริง"นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีสร้างโอกาสและเวทีให้ ส.อ.ท.และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมพูดคุยหารือถึงข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนอย่างตรงไปตรง รวมทั้งการที่รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ต่อเนื่องจนถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากมาตรการต่างๆ ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนวิกฤติโควิด-19 ให้กลายเป็นโอกาส หลังจากไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างดี จนได้รับการยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ
พร้อมแสดงความความมั่นใจด้วยว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นเป้าหมายปลายทางที่น่าสนใจทั้งสำหรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง