PTT-กฟผ.เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาว 10 ปี มูลค่า 3.4 แสนลบ.เริ่ม ก.ค.63

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 19, 2020 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) และนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติตามสัญญาระยะยาวฉบับใหม่ (GLOBAL DCQ) อายุสัญญา 10 ปี (ก.ค.63-ก.ค.73) ในปริมาณซื้อขายก๊าซฯสูงสุด 736 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มูลค่าตลอดอายุสัญญา 3.4 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าวังน้อย และโรงไฟฟ้าจะนะ

ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวฉบับนี้ ได้เจรจากันมายาวนานหลังจากที่สัญญาฉบับเดิมที่เริ่มตั้งแต่ปี 2524 ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2558 หลังจากนั้นกฟผ.ได้ต่อสัญญาซื้อก๊าซฯจากปตท.เป็นการชั่วคราวแบบปีต่อปี เพราะคาดว่าอาจได้นำเข้าก๊าซฯมาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเปิดเสรีก๊าซฯในช่วงที่ผ่านมา โดยสัญญาแบบปีต่อปีจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.63

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การที่ ปตท.และกฟผ.สามารถจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวนั้น จะช่วยเพิ่มความมั่นคงของประเทศ ที่จะเกี่ยวเนื่องกับการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย อย่างไรก็ตามกระทรวงฯยังยืนยันส่งเสริมการแข่งขันการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อให้เกิดการนำเข้าในราคาต่ำที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะต่ำลง ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาความมั่นคงควบคู่กันไปด้วย

ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่ ปตท., กฟผ. ,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ,บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) และบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) โดยขณะนี้มีเพียง ปตท.และ กฟผ.ที่นำเข้ามาแล้ว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. กล่าวว่า กระทรวงได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากราคาก๊าซฯจะอิงกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน ส่งผลให้ปัจจุบันราคาก๊าซฯตลาดรวม ซึ่งประกอบด้วยราคาก๊าซฯในอ่าวไทย ราคาก๊าซฯจากเมียนมา และสัญญาการนำเข้า LNG ระยะยาว มีราคาสูงอยู่ที่ 7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เมื่อเทียบกับราคา LNG ในตลาดจร (spot) ในปัจจุบันที่อยู่ระดับ 2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู อย่างไรก็ตามยังต้องมีการประเมินด้วยว่าราคา LNG ตลาดจรที่อยู่ระดับต่ำในปัจจุบันอาจจะเป็นราคาชั่วคราวหรือไม่ โดยขอให้ทุกฝ่ายไปประเมินผลดีผลเสียว่าควรจะปรับโครงสร้างอย่างไรให้เหมาะสมแล้วนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

ส่วนความคืบหน้าที่คณะกรรมการ กฟผ. ได้เสนอแผนการจัดหา LNG ในช่วงปี 2563-2565 โดยจะนำเข้าในปริมาณ 0.6 ล้านตัน, 1.9 ล้านตัน และ 1.5 ล้านตัน ตามลำดับนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงาน ซึ่งการนำเข้า LNG ของ กฟผ.เป็นไปตามการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกำหนดเป็น 2 แนวทาง คือ การจัดซื้อระยะยาว โดยจัดซื้อจาก ปตท.ภายใต้สัญญาหลักซื้อขายก๊าซฯระยะยาว และการจัดซื้อระยะสั้น โดยจัดหา LNG เพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญากับ ปตท.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ