ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อรอดูประสิทธิผลของมาตรการการเงินการคลังที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ทั้งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การพักชำระหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น รวมถึงมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ต่อการช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และช่วยประคับประคองภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ โดยหลังจาก กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 0.75% มาอยู่ที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนพ.ค. ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง เพื่อสนับสนุนกลไกภาครัฐ และช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในการลดต้นทุนทางการเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากมาตรการทางการเงินต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งการพักชำระหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากการพักชำระหนี้ที่ประกาศก่อนหน้านี้ โดยจะมีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 2-4% ต่อปี ซึ่งจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563
อีกทั้งได้ออกมาตรการเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องการใช้วงเงินเพิ่มเติมเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.63 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 รวมถึงขยายขอบเขตและระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะที่ 2 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 เพื่อลดภาระหนี้ของประชาชนและช่วยบรรเทาปัญหาการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเป็นวงเงินราว 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อการแพร่ระบาดของโรคสามารถควบคุมได้ มาตรการการคลังจึงเน้นไปที่การประคองเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และยังมีการเร่งพิจารณาโครงการในงบฟื้นฟู 4 แสนล้าน ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันที ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนก.ค.-ต.ค.63 ทั้งนี้ มาตรการทางการคลังมีแนวโน้มที่จะส่งผลได้รวดเร็วกว่าและครอบคลุมกว่ามาตรการทางการเงิน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และกำลังซื้อภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่ง กนง.คงจะต้องคอยประเมินสถานการณ์ และชั่งน้ำหนักความเสี่ยงด้านต่างๆ รวมถึงประเมินความเพียงพอของมาตรการทางการคลัง และมาตรการทางการเงินที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานในการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศยังเผชิญความเสี่ยงสูง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล และอินเดีย ยังไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่หลายประเทศ เช่น จีนและญี่ปุ่น ก็เผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกสอง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่การพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคยังมีความไม่แน่นอน โดยคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาเป็นปีจนกว่าจะพัฒนาออกมาได้สำเร็จ
"ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจถดถอยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยล่าสุดคาดว่า IMF จะมีการปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงอีกสำหรับ World Economic Outlook (WEO) ในเดือนมิ.ย.จากคาดการณ์เดิมในเดือนเม.ย.ที่ -3.0% ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ผนวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จะเป็นแรงกดดันภาคการส่งออกของไทย" บทวิเคราะห์ระบุ
ด้านกำลังซื้อในประเทศและการจ้างงานที่ลดลง เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในประเทศ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยจะเริ่มคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงสูงและอาจไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้เร็ว เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศในระดับสูง ส่งผลต่อเนื่องมายังรายได้ของคนในประเทศให้ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรค ทำให้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคยังต้องยึดถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่ยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ และมีผลต่อเนื่องมายังการจ้างงานที่ลดลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานในไทยอาจเพิ่มขึ้นจาก 1.0% ในปีก่อนหน้า ไปแตะที่ระดับ 4.0% ในปีนี้ ซึ่งการจ้างงานที่อ่อนแรงลงจะเป็นปัจจัยหลักที่บั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและอุปสงค์ภายในประเทศต่อไป
"ท่ามกลางความเสี่ยงข้างต้น ธนาคารแห่งประเทศไทยคงพร้อมที่จะใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติม หากมีความจำเป็นในระยะข้างหน้า โดยนโยบายทางการเงินแบบ Unconventional น่าจะเป็นเครื่องมือหลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจนำออกมาใช้เพิ่มเติม ในขณะที่ทางเลือกในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็ยังอยู่วิสัยที่สามารถทำได้ แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะยังไม่มีความจำเป็นก็ตาม" บทวิเคราะห์ระบุ