นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) คาดว่า ภาพรวมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ (R&D) ในปี 63 จะปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 1.66 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.09% ของ GDP เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนได้รับผลกระทบจนอาจจำเป็นต้องลดงบประมาณด้าน R&D ลง ส่วนภาครัฐนั้นไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 64
สำหรับการเติบโตของตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ในรอบการสำรวจปี 62 เป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ โดยหากพิจารณาเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 15% ซึ่งคิดเป็น 0.87% ต่อจีดีพี โดยเพิ่มจากรอบสำรวจปีก่อนหน้าที่ภาคเอกชนมีการลงทุน 123,942 ล้านบาท หรือ 0.80% ต่อจีดีพี
ส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้น 27% ซึ่งคิดเป็น 0.24% ต่อจีดีพี โดยเพิ่มจากรอบสำรวจปีก่อนหน้าที่ภาครัฐมีการลงทุน 31,201 ล้านบาท หรือ 0.20% ต่อจีดีพี ส่วนในด้านบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนานั้น พบว่า มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา 159,507 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 15% หรือคิดเป็น 24 คน ต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งแบ่งเป็นบุคลากรที่อยู่ในภาครัฐ 33% และอยู่ในภาคเอกชน 67% สำหรับปี 2562 ซึ่งจะเป็นรอบการสำรวจปี 63 นั้น คาดว่าการลงทุนด้าน R&D ของประเทศไทยจะขยายตัวแตะหลัก 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.21% ของจีดีพี
"แม้การเติบโตของการลงทุน R&D ไทยจะเติบโตมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2554 แต่เมื่อทั่วโลกรวมถึงไทยต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวเลขการลงทุน R&D ในปี 63 จะปรับตัวลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจนอาจจำเป็นต้องลดงบประมาณด้าน R&D ลง
โดย สอวช. คาดการณ์ว่าจากผลกระทบจากโควิด-19 จะส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ในปี 63 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 1.09% และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโต 1.23% และแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวลดลงจากเป้าเดิมที่คาดการณ์ไว้ในสถานการณ์ปกติว่า ในปี 63 จะเติบโต 1.40% ต่อจีดีพี และในปี 64 จะเติบโต 1.50% ต่อจีดีพี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพียงแค่เราต้องกำหนดทิศทางการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาหลังสถานการณ์โควิด-19 ให้ชัดว่าจะมุ่งไปในทิศทางไหนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2% ในปี 70 ซึ่งมีทางเป็นไปได้แน่นอน แต่ต้องไม่ปล่อยไปตามยถากรรม" นายกิติพงค์ กล่าว