นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลก ประเมินว่า โควิด-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจะมีธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20%
ซึ่งผลการสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อธุรกิจในระยะสั้น ของกลุ่มความร่วมมือองค์กรรับประกันชั้นนำของโลก Berne Union เมื่อเดือนเม.ย.63 ที่ผ่านมา พบว่าองค์กรรับประกันในประเทศต่าง ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เริ่มพบสัญญาณการขอขยายระยะเวลาการชำระเงินและชำระเงินล่าช้าของผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนก.พ.63 ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนการผิดนัดชำระเงินค่าสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ปี 2563
อย่างไรก็ดี ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) พบว่า ลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ยื่นเอกสารผู้ซื้อในต่างประเทศชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 195% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกค้างชำระกว่า 617.33 ล้านบาท ทำให้มีลูกค้ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 24 ราย มูลค่า 284.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 226% จาก 12 ราย มูลค่า 87.50 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า (92%) รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย (8%) ประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ส่วนประเภทสินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ ข้าว อาหารกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ
ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยวิธีกระจายตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่มาก เช่น ตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ และแอฟริกา
ขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีอำนาจการต่อรองต่ำและเงินทุนหมุนเวียนไม่มาก ต้องบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า เนื่องจากโควิด-19 อาจทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ชำระเงินล่าช้าหรือผิดนัดชำระเงิน
"EXIM BANK มีความเชี่ยวชาญในการช่วยผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยพัฒนาบริการประกันการส่งออกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs มานานกว่า 26 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 ได้ให้ความคุ้มครองธุรกิจส่งออกไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.37 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญคือ ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด แม้ในภาวะวิกฤตที่ยังมีโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอ" นายพิศิษฐ์กล่าว