นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่เอกสารจุดยืนของสหภาพยุโรป (อียู) ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้า ฉบับล่าสุดหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 และเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะมนตรียุโรปได้เผยแพร่เอกสารวิสัยทัศน์ของประธานคณะมนตรียุโรปในช่วง 18 เดือนข้างหน้า ซึ่งได้สรุปทิศทางนโยบายการค้า และความคาดหวังของอียูที่มีต่อประเทศคู่ค้า และคู่เจรจาเอฟทีเอ ที่ยังคงให้ความสำคัญกับระบบการค้าแบบเปิด เป็นไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ มีความเป็นธรรม ความคาดหวังสูง และมีความยั่งยืน โดยต้องการใช้ FTA เป็นกลไกในการขยายการค้าและการลงทุน
ทั้งนี้ อียูได้ทำ FTA ระดับสองฝ่ายกับประเทศคู่ค้าแล้ว 32 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เป็นต้น นอกจากนี้มีแผนการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ อาทิ จะผลักดันการเจรจา FTA กับอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มต้นในปี 2559 และการเจรจา FTA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเริ่มต้นในปี 2561 ให้สามารถสรุปผลได้ในปี 2564 ปรับปรุงความตกลงทางการค้าที่มีอยู่แล้วกับเม็กซิโกและชิลีให้ทันสมัย และเดินหน้าเจรจา FTA กับอินเดีย และความตกลงด้านการลงทุนกับจีน
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียูที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 นั้น คณะมนตรีแห่งอียูด้านการต่างประเทศได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ต.ค.62 ให้กระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งเอกสารฯ ได้ตั้งเป้าให้อียูลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Co-operation Agreement) ภายในปี 64 ซึ่งเป็นความตกลงที่วางรากฐานความสัมพันธ์อียูกับไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งฟื้นการเจรจา FTA เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความคาดหวังจากการเจรจาในระดับที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ จากการติดตาม FTA ที่อียูเจรจาและลงนามกับประเทศคู่ค้า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การยกระดับมาตรฐานแรงงาน โดยให้เสรีภาพในการสมาคมและรวมตัวการเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นระดับความคาดหวังที่สูงและท้าทาย
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนการเตรียมการของไทย กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตฯ ศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมถึงโอกาสและผลกระทบจากการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่ในเดือน ส.ค.นี้ นอกจากนี้ยังมีแผนจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 62 อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่ากว่า 44,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการค้า 9.2% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 23,581 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และไก่แปรรูป เป็นต้น และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 20,918 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องจักรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น