คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาด -5.3% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด
พร้อมกันนี้ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ -1.7% จากเดิมคาด -1.0% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64
อย่างไรก็ดี กนง.ประเมินว่าในปี 64 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ 5% จากเดิมที่คาดไว้ 3% ส่วนการส่งออก ขยายตัวได้ 4.5% การนำเข้า ขยายตัว 4.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัว 0.9% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.5% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 5.6% การอุปโภคภาครัฐ ขยายตัว 3.1% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 14.1% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 20.2 พันล้านดอลลาร์ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 16.2 ล้านคน
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกรุนแรงกว่าที่คาดไว้ และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทย ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ รวมถึงการจ้างงานและรายได้มีแนวโน้มลดลง
โดยคาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 15 ล้านคน ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่า -3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ -1.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน -13.0% จากคาดการณ์เดิมที่ -4.3% โดยมีเพียงการลงทุนภาครัฐเท่านั้นที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกที่ 5.8% เท่ากับคาดการณ์เดิม ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 15.5 พันล้านดอลลาร์ จากคาดการณ์เดิมที่ 19.4 พันล้านดอลลาร์
นายทิตนันทิ์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบลึกสุดในไตรมาส 2/63 เพราะผลจากโควิด-19 กระทบทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้ในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจติดลบมาก และช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวแบบติดลบน้อยลงเรื่อย ๆ ก่อนจะกลับมาเป็นบวกในปี 64 ส่วนจะฟื้นตัวอย่างไรนั้นต้องขึ้นอยู่กับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. ได้มีการหารือว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งรูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพของประชาชน จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องจัดทำมาตรการในด้านของอุปทาน เพื่อให้มีการปรับตัวเข้าสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
พร้อมมองว่า มาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงิน และสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
"รัฐบาลต้องดูว่าจะทำอย่างไร ให้แผลเป็นในภาคธุรกิจและครัวเรือนมีผลกระทบน้อยลง ถ้าผ่านไปได้ การฟื้นตัวก็จะเข้มแข็ง และควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ นอกเหนือจากนโยบายในการกระตุ้นด้านอุปสงค์ การดำเนินนโยบายด้านอุปทานต้องทำควบคู่กันไปด้วย"นายทิตนันทิ์ กล่าว
ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มีปัจจัยจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมหลักและภูมิภาคเอเชีย โดย กนง. มองว่าจะมีผลกระทบกับผู้ส่งออก ดังนั้น จึงให้ทีมงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินมาตรการที่จำเป็นเพิ่มเติมในระยะเวลาที่เหมาะสม
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่ายังเกินดุลแต่คงไม่มากเหมือนเดิมจนกว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในโลก มีการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่ง กนง. จะจับตาดูแลสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือ -8.1% นั้น ถือว่าเป็น GDP ที่ต่ำสุดในประวัติการณ์ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่ไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 พบว่า GDP อยู่ที่ -7.6%