นักวิชาการติงธปท.ทุ่มเงินแทรกแซงเงินบาทเป็นการทำลายเศรษฐกิจในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 26, 2007 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไม่ควรใช้นโยบายด้วยการนำเงินจำนวนมากเข้าไปแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า เพราะถือเป็นแนวทางช่วยเหลือธุรกิจที่ผิดวิธี ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวของไทยอ่อนแอไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่พึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก 
ดังนั้นควรปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันความผันผวน ขณะเดียวกันต้องเน้นพัฒนาคุณภาพหรือปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีประสิทธิภาพซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมมากกว่า
วานนี้(25 ก.ค.)นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ออกมาระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินบาทไปแล้วถึง 1.7 แสนล้านบาท
นายตีรณ ยังเห็นว่า การเร่งซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแทรกแซงค่าเงินบาทจะเป็นการเปิดช่องให้กองทุนหรือนักเก็งกำไรเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ง่ายขึ้น เพราะการแทรกแซงปริมาณมากจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนไทยบิดเบือนจากความเป็นจริง
"การแทรกแซงค่าเงินสามารถทำได้ แต่ควรระมัดระวัง ไม่ใช่ทุ่มเงินมากเกินไป ที่ผ่านมาทุกคนเข้าใจดีว่าแบงก์ชาติต้องการช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่หากภาครัฐใช้นโยบายการเงินในการช่วยเหลือมากไปจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยระยะยาวที่ไม่อาจแข่งขันกับต่างชาติ ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาค่าเงินแข็งโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าแพงในอนาคต เพราะเมื่อค่าเงินอ่อนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยคงต้องปรับขึ้นจนมีต้นทุนสูง" นายตีรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ