นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยเดือน พ.ค.63 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 45 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 20 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 25 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 11,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.63 จำนวน 5,062 ล้านบาท
เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หรือประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนจดทะเบียนสูง โดยเป็นการประกอบธุรกิจสนับสนุนบริษัทในเครือ/ในกลุ่มที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมี และกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-COMMERCE) โดยเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับจำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรม เป็นต้น
สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 6 ราย เงินลงทุน 122 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 4 ราย เงินลงทุน 62 ล้านบาท และฮ่องกง 2 ราย เงินลงทุน 28 ล้านบาท
ขณะที่ในเดือน พ.ค.63 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน/บริษัทใหม่ทั่วประเทศ 4,195 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 9,672 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 502 ราย คิดเป็น 12% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 172 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร 128 ราย คิดเป็น 3%
เมื่อแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาทจัดตั้งมากที่สุด 3,136 ราย คิดเป็น 74.76% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท 1,001 ราย คิดเป็น 23.86% ตามด้วยช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท 52 ราย คิดเป็น 1.24% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท 6 ราย คิดเป็น 0.14%
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือน พ.ค.63 มีจำนวน 905 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 2,975 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 109 ราย คิดเป็น 12% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 43 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 27 ราย คิดเป็น 3%
เมื่อแบ่งตามช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาทเลิกกิจการมากที่สุด 645 ราย คิดเป็น 71.27% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท 221 ราย คิดเป็น 24.42% ตามด้วยช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท 37 ราย คิดเป็น 4.09% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท 2 ราย คิดเป็น 0.22%
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 พ.ค.63 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 768,371 ราย มูลค่าทุน 18.45 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 188,350 ราย คิดเป็น 24.51% บริษัทจำกัด 578,755 ราย คิดเป็น 75.32% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,266 ราย คิดเป็น 0.17%
เมื่อแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท 454,308 ราย คิดเป็น 59.13% รวมมูลค่าทุน 0.40 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.17% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท 226,395 ราย คิดเป็น 29.46% รวมมูลค่าทุน 0.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.07% ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท 71,915 ราย คิดเป็น 9.36% รวมมูลค่าทุน 1.95 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.57% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท 15,753 ราย คิดเป็น 2.05% รวมมูลค่าทุน 15.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.20%
นายวุฒิไกร ระบุว่า การจัดตั้งธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 63 มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยเชิงบวกทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่จะทยอยให้ธุรกิจได้รับรู้ รวมทั้งคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และผู้บริโภคจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในเชิงลบครบทุกด้านเป็นระยะเวลานานแล้ว