กพอ.รับพิษโควิด-19 ทำแผนลงทุน EEC ถึงเป้าล่าช้า เล็งหามุมสร้างโอกาสจากวิกฤติ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 26, 2020 09:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยุคหลังโควิดว่า ประเทศไทยโชคดีที่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดยผลกระทบที่มีต่อ EEC ทำให้แผนการลงทุนไปถึงเป้าหมายเหมือนเดิมแต่ขยายเวลาออกไปทดแทนช่วงที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม การที่จีนฟื้นตัวได้เร็วส่งผลให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยพลิกกลับมาดี มีการนำเข้าทุเรียน มังคุด และข้าว ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนและมังคุดทำรายได้ได้ดี ข้าวราคาดี เพราะไทยเร่งการส่งออกทันทีที่มีโอกาส นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีการปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรม 5G กลุ่มโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมสุขภาพ กลุ่มการพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัย ธุรกิจชุมชนที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมสุขภาพดี เป็นต้น ซึ่งต้องมีการหารือเพื่อการต่อยอดให้เป็นเรื่องเป็นราวต่อไป

สำหรับมาตรการสำคัญที่ได้มีการหารือกันในบอร์ด EEC เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้ครอบคลุมมากขึ้น, การขยายตลาดส่งออกกับประเทศที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดได้เร็ว เช่น CLMV จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น, การบรรเทาปัญหาการว่างงาน การจัดหางานภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม, การฝึกอบรมทักษะความรู้ที่มีความจำเป็นในอนาคตเพื่อ Upskill-Reskill แก่แรงงาน โดยถือโอกาสในวิกฤตครั้งนี้เตรียมความพร้อมด้านกำลังคนให้เต็มที่เพื่อรองรับการกลับมาเดินเครื่องของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการกำลังคนทักษะสูงขึ้น,

รวมทั้งการสนับสนุนไทยเที่ยวไทย ดึงคนไทยที่จากเดิมที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศให้กลับมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การสร้างตลาดสด แหล่งน้ำ, สนับสนุนบัณฑิตอาสาพัฒนาชุมชนลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาชุมชน และการพัฒนาสำมะโนประชากร เป็นต้น

ขณะนี้ สำนักงาน กพอ.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการต่างประเทศถึงประเด็นความร่วมมือในการสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กร หรือบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทางกับสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่มีความไม่สะดวกในด้านการหาบริการตรวจสุขภาพให้เข้ามาใช้บริการในไทย และหารือกับกระทรวงสาธารณสุขในการร่วมกันพิจารณากำหนดประเทศต้นทางและจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในประเทศได้ในแต่ละช่วงเวลา การร่วมกันกำหนดมาตรการกักกัน Flexible Alternative Quarantine ให้บุคลากรที่เดินทางเข้ามา สามารถทำภารกิจที่จำเป็นได้ภายใต้หลักการการกักกัน การขึ้นทะเบียนเป็น Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่ EEC โดยมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีบุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาประเทศต้นทางได้ เพื่อความสะดวกในการดูแลสุขภาพ

"อีอีซีได้รับผลกระทบเรื่องการทำงาน พวกเราทำงาน Work From Home กัน 100% แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ประชุมทางไกล (VDO Conference) กลับทำให้เราเจอซีอีโอจากทั่วโลกที่โดยปกติเราไม่มีโอกาสได้เจอคนเหล่านั้น แต่โควิด-19 ทำให้ได้มาประชุมร่วมกันจำนวนมหาศาล เชื่อว่าการประชุมลักษณะนี้จะมีต่อไปอีกยาวนาน ซึ่งเป็นวิถีใหม่ทั่วโลก ขณะเดียวกันสิ่งที่เราได้กลับมาจากวิกฤตครั้งนี้ คืออุตสาหกรรมใหม่ที่มีทั้งจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เข้ามาคุยและสนใจการลงทุนเรื่องดิจิทัลมากขึ้น" นายคณิศ กล่าว

เลขาธิการ กพอ.กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าวได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หลายประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลก รวมถึงอินเดียลดการผลิตลง 90% ถึงเกือบ 100% หากผลักดันได้ก็จะเป็นโอกาสของประเทศไทย แต่ต้องผ่อนคลายมาตรการด้านการส่งออกเพิ่มขึ้น และยังต้องเตรียมพัฒนากำลังคนทั้งคนใหม่ และคนเก่าที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการในการรองรับการกลับมาเดินเครื่องของภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง

ด้านนายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ประเทศตามนโยบายรัฐบาลว่า ขณะนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินการช่วยเหลือและพัฒนากำลังคนในทุกมิติ ทั้งการร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ใช้จุดแข็งของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาออกแบบหลักสูตรเสริมทักษะ Reskill-Upskill ระยะสั้น-ระยะยาว ผ่านโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskil/Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการหางานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของโควิด-19 โดย อว.สนับสนุนค่าลงทะเบียน 95-100% และเป็นหลักสูตรในรูปแบบ Online,

โครงการจัดตั้งหน่วยรับรองมาตรฐานหลักสูตรและหน่วยฝึกอบรมเพื่อการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ ภายใต้มาตรการ Thailand Plus Package สำหรับสถานประกอบการ โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมที่มีทักษะเข้าข่ายตามประกาศกำหนด Future Skills Set หรือทักษะความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ต้องการ ตามประกาศของ อว.ที่สามารถยื่นขอยกเว้นภาษีได้ 1.5-2.5 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพื่อรองรับการยกระดับทักษะของบุคลากรภายในประเทศให้มีทักษะความรู้ และความเชี่ยวชาญสอดคล้องต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพื่อเป็นการวางระบบสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ทั้งในรูปแบบของการจัดหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) และหลักสูตรระดับปริญญา (Degree)

นอกจากนี้ ในระยะ 3-6 เดือน อว.ยังได้สนับสนุนการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่หรือคนว่างงานลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลชุมชน เพื่อสร้างงานและให้นักศึกษามีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ