คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพฤติกรรม การรับรู้ การเลือกใช้บริการ ตลอดจนทัศนคติต่อตัวเลือกหรือสภาพคล่องทางการเงินของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 65.5% ต้องพึ่งพาหาสภาพคล่องจากเงินกู้ในระบบ รองลงมาคือ 21.2% ต้องพึ่งพาหาสภาพคล่องจากทั้งเงินกู้ในระบบและนอกระบบ ในขณะที่ 4.1% พึ่งพาเงินกู้นอกระบบอย่างเดียว และ 9.2% ระบุว่าพึ่งพาวิธีอื่น ๆ
ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อให้ระบุแหล่งในการเลือกใช้บริการตัวเลือกหรือทางออกของสภาพคล่องทางการเงิน พบว่า
อันดับที่ 1 เลือกใช้บริการโรงรับจำนำอีซี่ มันนี่ 53.2%
อันดับที่ 2 ยืมเพื่อนหรือญาติ 46.1%
อันดับที่ 3 ร้านทอง 42.9%
อันดับที่ 4 บัตรกดเงินสด 28.4%
อันดับที่ 5 โรงรับจำนำของรัฐ (สถานธนานุเคราะห์) 24.8%
อันดับที่ 6 บัตรเครดิต 22.2%
อันดับที่ 7 สินเชื่อธนาคาร 14.5%
อันดับที่ 8 สินเชื่อส่วนบุคคล 12.2%
อันดับที่ 9 เล่นแชร์ 9.9%
อันดับที่ 10 โรงรับจำนำสยาม 8.5%
ส่วนกลุ่มที่ระบุว่ายังไม่เคยมีประสบการณ์กับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน มองว่าหากต้องใช้บริการตัวเลือกหรือทางออกหรือสภาพคล่องทางการเงินจะเลือกใช้บริการอันดับแรก คือ ใช้บริการจากร้านทอง ต่อมาเป็น ยืมเพื่อน /ญาติ, โรงรับจำนำ อีซี่มันนี่, โรงรับจำนำ Cash Express, บัตรกดเงินสด, บัตรเครดิต, โรงรับจำนำของรัฐ , สถานธนานุบาล, สินเชื่อธนาคาร และอันดับสุดท้ายคือ สินเชื่อส่วนบุคคล
สาเหตุที่คนไทยจำนวนมากยังพึ่งพิงโรงรับจำนำเป็นหลัก สะท้อนมาในทัศนคติของของผู้บริโภคที่มีต่อโรงรับจำนำหรือทางออกของสภาพคล่องว่า ดอกเบี้ยถูก, ได้เงินเร็ว, ทรัพย์สินไม่หาย ไถ่ของคืนได้, เหมาะสำหรับต้องการเงินด่วน, ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน, ขั้นตอนง่ายใช้บัตรประชาชนใบเดียว ได้เงินเร็ว, ไม่เสียเครดิตถ้าปล่อยของหลุด, สามารถผ่อนชำระเป็นงวดๆ ได้, ระยะเวลาในการฝากนาน แม้จะยังมีความกังวลอยู่บ้างว่ากลัวทรัพย์ถูกเปลี่ยน
ผลการสำรวจ ยังพบว่าเมื่อพูดถึงโรงรับจำนำแบรนด์ที่นึกถึงเป็นอันดับที่ 1 คือโรงรับจำนำอีซี่มันนี่ 49.8% อันดับที่ 2 โรงรับจำนำของรัฐ (สถานธนานุเคราะห์) 22.4% อันดับ 3 คือ ร้านทองและโรงรับจำนำ Cash Express 8.2% อันดับที่ 4 สถานธนานุบาล 5.5% อันดับที่ 5 โรงรับจำนำสยาม 3.7%
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้แบรนด์โรงรับจำนำ อันดับที่ 1 ดอกเบี้ยถูก 63.8% อันดับที่ 2 ราคาเป็นธรรม มีมาตรฐาน 60.8% อันดับที่ 3 ความน่าเชื่อถือโดยรวม 41.1% อันดับที่ 4 เชื่อมั่นในการเก็บทรัพย์จำนำของลูกค้า 32.4% อันดับที่ 5 สถานที่สะอาดและทันสมัย 29.3% อันดับที่ 6 วัน เวลาเปิดทำการสอดคล้องกับลูกค้า 26.9% อันดับที่ 7 มีจำนวนสาขาครอบคลุม 19.3% อันดับที่ 8 สามารถรับจำนำทรัพย์ได้หลากหลาย 15.4% อันดับที่ 10 มีทางเลือกในการขยายเวลาในการจำนำ 13.1%
ศ.ปาริชาต สถาปิตานนท์ เปิดเผยว่า หากพิจารณาในมิติการสื่อสาร ประเด็นด้านการรับรู้ นับเป็นหัวใจสำคัญที่สะท้อนภาพจำฝังหัวผู้คน โดยภาพของโรงรับจำนำ ร้านทอง หรือการหยิบยิมจากคนใกล้ชิด มักเป็น "ภาพจำ" ในคอนเทนต์ที่คนไทยพูดคุยหรือแนะนำกัน ในฐานะ "แหล่งพึ่งพิง" ยามที่ชีวิตต้องการทางออกแบบด่วนๆ คล่องตัวและเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในยามที่บุคคลเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าทางการเงิน
นอกจากนั้น ภาพจำดังกล่าวยังได้รับ"การผลิตซ้ำ"จากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อตอกย้ำฐานความเชื่อเกี่ยวกับแหล่งพึ่งพึงของผู้คนและกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่สื่อมวลชนใช้เป็นดัชนีชี้วัดระดับสภาพคล่องทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ผู้คนเผชิญกับความจำเป็นของชีวิตที่ต้องการทางออกแบบง่าย สะดวก และคล่องตัว
ผนวกกับการที่ธุรกิจโรงรับจำนำเอกชน และธุรกิจร้านทองยุคใหม่ได้ทำงานเชิงรุกในด้านการสร้างแบรนด์และการสร้างการรับรู้ (visibility) และการเข้าถึง (accessibility) ให้ผู้คนอย่างโดดเด่น อาทิ การจัดตั้งอยู่ในแหล่งที่เป็นแลนมาร์คของชุมชน การออกแบบหน้าร้านให้ดูโปร่งใส น่ามอง การใช้โทนสีที่โดดเด่นสะดุดตา หรือแม้แต่การตั้งชื่อให้เรียกขานได้ง่ายๆ ดูทันสมัย และตอบโจทย์ที่อยู่ในใจผู้คน
อนึ่ง การสำรวจดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.63 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ชลบุรี นครราชสีมา ภูเก็ต และเชียงใหม่