นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เผยสั่งการให้กรมจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ไปจัดเตรียมแนวทางในการบริหารจัดการรายได้รัฐบาลในอนาคต ซึ่งหลังจากปีนี้ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 จนทำให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ยังอยู่ในระดับที่กระทรวงการคลังยังสามารถบริหารจัดการได้
"เป็นข้อเท็จจริงว่าผลกระทบของโควิดกระทบกับการจัดเก็บอยู่แล้ว และส่วนหนึ่งเราต้องช่วยผู้ประกอบการไปก่อนในเรื่องมาตรการภาษี แต่ในอนาคต เราจะมีมาตรการบริหารจัดการเรื่องรายได้เช่นเดียวกัน ที่จะทำให้สามารถจัดเก็บได้ดีที่สุดในภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนี้มอบโจทย์ไปแล้ว" นายอุตตม กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ปี 2563 อาจจะไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งส่งผลต่อการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ถ้ามีการขาดดุลเพิ่มขึ้นจริง ต้องบริหารจัดการเรื่องการกู้เพิ่ม ซึ่งเป็นไปได้ที่ต้องกู้เพิ่ม แต่ยังไม่ได้ดูตัวเลข
อย่างไรก็ตาม หากจะต้องมีการกู้ก็เป็นไปตามขึ้นตอน มีคณะกรรมการที่ดูแล สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน วันนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นอย่างไร
ส่วนเงินกู้จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทเป็นเรื่องของสภาพัฒน์ที่เป็นหน่วยหลักในการกลั่นกรอง เพราะมีแนวทางอยู่แล้ว แต่ต้องพิจารณาว่าเป็นโครงการที่เข้ากรอบตาม พ.ร.ก.กำหนดไว้ และดูเนื้อหาโครงการ ความเหมาะสม ซึ่งงบประมาณที่มีอยู่เท่านี้ ต้องใช้ให้เกิดผลดีที่สุด และตรงเป้าหมายที่สุด
อย่างไรก็ดี แม้จะมีส่วนราชการเสนอขอใช้เงินเกินกว่ากรอบ 4 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังยังไม่มีความจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เพิ่ม โดยยังใช้กรอบที่มีอยู่เดิม 4 แสนล้านบาทให้ตรงจุดมากที่สุด ใช้เงินให้มีประสิทธิภาพที่สุด สอดรับกับเป้าหมายที่ต้องการที่ต้องการดูแลเศรษฐกิจในประเทศช่วง 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคการส่งออกของไทยยังไม่ฟื้น
"สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ ต้องดูแลเศรษฐกิจภายในหมุนเวียนไปได้ มีการจ้างงาน มีการจับจ่ายใช้สอย อันนี้คือเป้าหมายหลัก ดังนั้นงบประมาณภายใต้ 4 แสนล้านบาทจะไปในทิศทางนั้น ถ้าจะดูแลเศรษฐกิจในประเทศ ต้องดูแลในระดับพื้นที่เป็นหลัก" นายอุตตม กล่าว