นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TFEX เปิดเผยว่า ในปีนี้ตลาดทองคำถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าระหว่างทางจะมีการแกว่งตัวจากการเทขายทำกำไร แต่ล่าสุดสัญญาณยังเป็นบวก โดยมองว่ามีโอกาสที่จะได้เห็นราคาทองคำในตลาดโลกปรับขึ้นไปที่ระดับ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมในปี 54 ส่วนระยะใกล้น่าจะขึ้นไปแตะ 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการปรับฐานแต่ปรับลดลงไปไม่มากซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี และในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาทองคำจะย่อลงไปไม่มาก มองแนวรับที่ 1,750-1,747 ดอลลา/ออนซ์
อย่างไรก็ตาม จากต้นปีที่ผ่านมาราคาทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นไปแล้ว 16.65% ราคาในประเทศปรับขึ้นไป 19.17% (ข้อมูลวันที่ 27 มิ.ย.) สาเหตุที่ราคาทองคำในประเทศปรับขึ้นมากกว่าตลาดโลกเนื่องจากที่ผ่านมาได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า อย่างไรก็ตามล่าสุดค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่า และยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้หลังจากนี้ราคาทองคำในประเทศจะปรับขึ้นน้อยกว่ารราคาทองคำในตลาดโลก
ดังนั้น นักลงทุนสามารถปิดความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่จะส่งผลต่อเราคาทองคำในประเทศด้วยการลงทุนผ่าน TFEX โดยเฉพาะโกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์ส (Gold Online Futures) ที่เป็นการซื้อขายด้วยดอลลาร์สหรัฐแบบเรียลไทม์ทำให้นักลงทุนไม่ต้องมีความกังวลด้านความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงิน อีกทั้งการลงทุนผ่าน TFEX ยังใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการลงทุนในทองคำแท่ง อย่างไรก็ดีในส่วนของนักลงทุนที่มีความคุ้นเคยในการลงทุนในรูปของเงินบาทนั้นก็สามารถลงทุนผ่านโกลด์ฟิวเจอร์ส(Gold Futures)ได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้แม้จะเป็นการซื้อขายด้วยเงินบาทแต่สามารถเป็นทางเลือกในการทำการป้องกันความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในทองคำและกลุ่มร้านทอง
ส่วนปัจจัยบวกของทองคำในปีนี้นั้นยังถือว่ามีอยู่มาก โดยหลักๆมาจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1. ความเสี่ยงจากการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ที่จะกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง 2. การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ(เฟด) ทั้งนโยบายการทำ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 65 3. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน 4. ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งชายแดนจีน-อินเดีย สหรัฐ-อิหร่าน คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐ และ 5. กองทุนทองคำขนาดใหญ่ SPDR -ธนาคารกลางต่างๆถือครองทองคำเพิ่มขึ้น