นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ระบุว่า ไม่กังวลเกี่ยวกับภาวะหนี้เสีย (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่จะเกิดจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในช่วงที่เกิดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยืนยันว่าสถานะของธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองต่างยืนยันว่ายังไม่มีปัญหาเรื่องหนี้เสีย เพราะมีการดูแลฐานะการเงินอย่างใกล้ชิด มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ในระดับที่สูง เพราะธนาคารพาณิชย์รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวเพื่อรับวิกฤติอย่างไร กระทรวงการคลัง จึงไม่ห่วงเรื่องฐานะของธนาคารพาณิชย์ แต่ก็ไม่ได้วางใจถึงขนาดไม่ได้ดูแลกันเลย
สำหรับหนี้เสียที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่จากตัวธุรกิจที่ไม่ดี เมื่อเศรษฐกิจเริ่มผ่อนคลายไปตามขั้นตอนที่รัฐบาลวางไว้ก็จะเริ่มมีการใช้จ่าย ดังนั้นสถานการณ์หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินจะค่อย ๆ ดีขึ้น
"ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดูแลผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องเพียงพอ เพื่อที่จะรองรับเศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป จะได้มีกำลังที่จะเดินหน้าต่อไปได้ทันที สามารถขยายกิจการ โดยวันนี้ได้ดูแลเรื่องสภาพคล่องเป็นอันดับแรก และจะมีการดูแล SMEs ชายขอบผ่านการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ โดยยืนยันว่าการดำเนินการไม่ได้ติดปัญหา แต่อยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้ครอบคลุม เนื่องจาก SMEs ในประเทศไทยมีเยอะ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลให้ครอบคลุม" นายอุตตม กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับ ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าว่าจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป
โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประเมินความช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีมาตรการสินเชื่อผ่อนปรน (ซอฟท์โลน) ทั้งจาก ธปท.วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ปล่อยไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท และหลังจากนี้ต้องให้เวลากับ ธปท.และธนาคารพาณิชย์ในการหารือกันเพื่อผ่อนผันเงื่อนไขให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีซอฟท์โลนของธนาคารออมสิน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินต่างๆ ที่เดินหน้าไปได้ดีพอสมควร
นายอุตตม ยอมรับว่า ยังมีผู้ประกอบการ SMEs บางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ จึงได้หารือกันว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มธุรกิจนี้อย่างไร โดยจะมีการออกมาตรการเสริมเพื่อช่วยเหลือ และให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่ยังไม่มีข้อสรุป