"สนธิรัตน์"ลดเป้าผลิตโซลาร์ประชาชนเหลือปีละ 50 MW ตั้งทีมศึกษาโครงการต้นแบบใน 60 วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 29, 2020 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัรตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงได้ปรับแผนการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน (โซลาร์ภาคประชาชน) โดยปรับลดเป้าหมายปริมาณการผลิตไฟฟ้าตามโครงการนี้เหลือ 50 เมกะวัตต์/ปี จากเดิมที่ 100 เมกะวัตต์/ปี หลังในปี 62 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดโครงการมีประชาชนเข้าร่วมโครงการน้อยมากเพียง 1.8 เมกะวัตต์ (MW) เท่านั้น

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) คาดว่าจะมีการเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เข้าสู่การพิจารณา โดยตามแผนได้บรรจุให้จัดทำโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 50 เมกะวัตต์/ปี เป็นเวลา 5 ปี (ปี 63-67) ลดลงจากแผน PDP2018 เดิม ที่บรรจุให้ดำเนินการ 100 เมกะวัตต์/ปี เป็นเวลา 10 ปี

สาเหตุที่ต้องปรับลดปริมาณการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมโครงการน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากราคารับซื้อของภาครัฐที่ระดับ 1.68 บาท/หน่วยไม่จูงใจมากนัก รวมถึงความยุ่งยากในการดำเนินการ ตลอดจนต้องมีเงินทุนสนับสนุน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ หากประชาชนหันมาติดโซลาร์รูปท็อปเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ในวันนี้มีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ถึงการบริหารจัดการโครงการโซล่าร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ โดยมีตัวแทนจาก เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เข้าร่วม โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้จัดตั้ง คณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนในเร็ว ๆ นี้ เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 50 เมกะวัตต์ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ 29 มิ.ย.63 โดยคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นจะเข้ามาพิจารณาปัญหา อุปสรรค การติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชน รวมถึงราคารับซื้อไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวต่อไป

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทน คปพ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้หารือเบื้องต้นว่าระบบการซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนควรเป็นระบบ Net Metering หรือ ระบบหักลบ กลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เอง เช่น เมื่อหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตและใช้แล้ว จึงนำไฟฟ้าส่วนที่เหลือขายเข้าระบบไฟฟ้าได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการซื้อขายไฟฟ้าของประชาชนในโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถใช้ระบบ Net Metering ได้เนื่องจากติดปัญหาการคำนวณภาษี ซึ่งต้องไปหารือกับกรมสรรพากร

นอกจากนี้คณะทำงานชุดที่จะตั้งขึ้นจะมีการพิจารณาด้านราคารับซื้อไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปด้วย โดยเห็นว่ารัฐไม่จำเป็นต้องให้เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) แต่ราคาควรจูงใจ ซึ่งอาจเท่ากับหรือต่ำกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายส่งไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในอัตราเกือบ 3 บาท/หน่วย นอกจากนี้จะพิจารณาว่าปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ อาจจะเพิ่มขึ้นได้หากความต้องการในอนาคตสูงขึ้น เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ