นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 5 เดือน ของปี 2563 (มกราคม – พฤษภาคม) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 13.4% โดยกลุ่มเบนซิน ลดลง 8.5% กลุ่มดีเซล ลดลง 5.0% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลง 43.3% น้ำมันเตา ลดลง 21.7% น้ำมันก๊าด ลดลง 16.6% ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลง 16.2% และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลง 27.5%
โดยมีสาเหตุมาจากการขยายระยะเวลาการบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิง และเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงหยุดชะงัก
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 29.23 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 8.5% โดยกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้ลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 28.45 ล้านลิตร/วัน ลดลง 8.1% และน้ำมันเบนซินมีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 0.78 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 21.2%
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ พบว่า แก๊สโซฮอล์ E85 มีปริมาณการใช้ลดลงมากที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.92 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 28.6% รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.00 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 16.8% ถัดมาเป็น แก๊สโซฮอล์ E20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.94 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 7.3% และแก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 13.59 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 0.4% ซึ่งจากมาตรการของภาครัฐที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน และการลดการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65.93 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 5.0% โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา B7 มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 47.64 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 27.1% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 10.21 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.36 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561) จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง
อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน และกำหนดให้ทุกสถานีบริการต้องมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายดังกล่าวยังไม่ปรับตัวลดลงมากนัก
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 11.40 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 43.3% เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63 และการหยุดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศยังคง ส่งผลให้ความต้องการใช้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.10 ล้านกิโลกรัม (กก.)/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 16.2% โดยปริมาณการใช้ภาคขนส่งลดลงมากที่สุด มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.02 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 31.0% รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.03 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 19.7% ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้ลดลงอยู่ที่ 1.66 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 8.5% และภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ลดลงอยู่ที่ 5.39 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลง 6.7%
การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.10 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 27.5% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ จึงทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรถโดยสารหันไปใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ทดแทน อีกทั้งยังมีนโยบายการปรับราคาขายปลีก NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปเพื่อสะท้อนต้นทุน จึงทำให้ราคา NGV ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์หรือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแทน
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 906,572 บาร์เรล/วัน คิดเป็น 12.8% โดยมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 878,802 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 8.6% คิดเป็นมูลค่า 42,032 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากในเดือน พ.ค. 63 มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลง จึงทำให้ต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง สำหรับน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 27,770 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลง 64.8% คิดเป็นมูลค่า 1,405 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 205,745 บาร์เรล/วัน คิดเป็น 19.5% คิดเป็นมูลค่า 9,084 ล้านบาท/เดือน