พาณิชย์ เผยสมาชิก RCEP 15 ประเทศลงนามความตกลงสิ้นปีนี้ เว้นอินเดียที่ยังไม่พร้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2020 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63 รัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างอาเซียนและคู่เจรจาคือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ประชุมทางไกล เพื่อรับทราบความคืบหน้าการทำงานของสมาชิก เพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลง โดยยืนยันว่าสมาชิก 15 ประเทศ จะลงนามความตกลงร่วมกันภายในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมายของผู้นำ

ส่วนอินเดียยังไม่พร้อมลงนามในปีนี้ แต่สมาชิกได้เปิดทางให้อินเดียกลับมาเจรจาต่อได้ โดยให้ถือว่ายังเป็นสมาชิกเก่า ไม่ต้องเริ่มต้นเจรจาใหม่หรือนับหนึ่งใหม่ โดยอินเดียไม่ได้เข้าร่วมประกาศความสำเร็จของการเจรจาในช่วงการประชุมสุดยอด RCEP ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปลายปี 62 เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบด้านลบกับประเทศมากกว่าผลดี โดยเฉพาะการขาดดุลการค้ากับสมาชิกบางประเทศ

"เมื่อการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงแล้วเสร็จ ทุกประเทศต้องเตรียมการเพื่อการลงนาม และให้สัตยาบัน โดยไทยจะขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนการลงนามความตกลง และการให้สัตยาบัน จากนั้นจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบการให้สัตยาบันอีกครั้ง ส่วนการมีผลบังคับใช้ กำหนดให้ต้องมีสมาชิกอาเซียนเกินกึ่งหนึ่ง และคู่เจรจาเกินกึ่งหนึ่ง ให้สัตยาบัน RCEP จึงจะมีผลใช้บังคับ คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 64" นางอรมนระบุ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ กรมฯ มีแผนจะเดินหน้าสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการใช้ประโยชน์ของความตกลงให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.นี้เป็นต้นไป โดยในเบื้องต้นมีแผนจะจัดสัมมนาผ่านทางออนไลน์ในประเด็นสำคัญๆ ในความตกลง เช่น กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ที่จะเป็นกฎที่กำหนดว่าสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศสมาชิกสัดส่วนเท่าไร จึงจะส่งออกโดยได้รับสิทธิประโยชน์จากความตกลง หรือการเปิดตลาดสินค้า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะชี้แจงรายละเอียดของข้อผูกพันในความตกลง เป็นต้น รวมถึงจะลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจด้วยเช่นกัน

นางอรมน กล่าวต่อว่า เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้แล้วจะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สมาชิก RCEP มีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน คิดเป็น 48.1% ของประชากรโลก โดยข้อมูลในปี 62 สมาชิก RCEP มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมกันกว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 32.7% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญฯ คิดเป็น 29.5% ของมูลค่าการค้าโลก

นอกจากนี้ ยังเป็นความตกลงที่มีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ เช่น เรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกัน จะรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ