ราคาทองในประเทศเช้านี้ปรับขึ้นบาทละ 200 นลท.เข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย จากกังวลโควิด-สถานการณ์ตึงเครียดสหรัฐและจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2020 09:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมค้าทองคำ รายงานว่า ราคาทอง (ทองคำ 96.5%) ขายปลีกในประเทศเช้านี้ เมื่อเวลา 09.24 น. ปรับตัวสูงขึ้นจากวานนี้บาทละ 200 ตามสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก โดยราคาทองคำแท่ง รับซื้อเข้าบาทละ 26,000.00 ขายออกบาทละ 26,100.00 ส่วนราคาทองรูปพรรณ รับซื้อเข้าบาทละ 25,529.44 ขายออกบาทละ 26,600.00

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ระบุว่า ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.19 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมปิดไตรมาส 2 ของปีนี้ด้วยการพุ่งขึ้นกว่า 206.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ+13% จากระดับ 1,575 ดอลลาร์ต่อออนซ์สู่ระดับ 1,781.39 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นรายไตรมาสที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2559 โดยราคาทองคำทะยานขึ้นท่ามกลางแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในสหรัฐพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีจำนวนรัฐมากขึ้นที่เพิ่มข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจรวมไปถึงระงับแผนในการเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่น.พ.แอนโทนี ฟอซี ผอ.สถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ ออกมาเตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อาจพุ่งขึ้นกว่า 100,000 รายต่อวัน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ

นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนระลอกใหม่ในประเด็นฮ่องกง หลังจากวานนี้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในฮ่องกง ส่งผลให้สหรัฐออกมาประณามว่า จีนละเมิดพันธสัญญาระหว่างประเทศ พร้อมประกาศว่า จะดำเนินการ "ต่อต้านบุคคลที่ปิดกั้นเสรีภาพและการปกครองตนเองของฮ่องกง" ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐยังเพิ่มแรงกดดันต่อจีนด้วยการระบุให้บริษัท Huawei Technologies Co และ ZTE Corp ของจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสหรัฐไม่สามารถใช้เงินทุนรัฐบาลวงเงิน 8.3 พันล้านดอลลาร์ซื้ออุปกรณ์จากบริษัทดังกล่าวได้

ปัจจัยที่กล่าวมากดดันดอลลาร์ในอ่อนค่า พร้อมกับกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ราคาทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดของปีนี้ครั้งใหม่ และเป็นประดับสูงสุดในรอบเกือบ 8 ปีที่ 1,786 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน จาก ADP, ดัชนี PMI ภาคการผลิต และ FOMC Meeting Minutes


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ