APM แนะลูกหนี้จัดกระแสเงินสด-ปรับมาตรฐานบัญชีก่อนเจรจาแก้หนี้ พร้อมหาทางรอดเดินหน้าธุรกิจต่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2020 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ"ปรับหนี้อย่างไร ให้ธุรกิจอยู่รอด" ผ่าน APM CHANNEL ว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP), การเลิกจ้างงาน, ธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ที่ได้รับผลกระทบกับวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากบางแห่งก็ไม่ได้รับการสนับสนุน ทำให้ธุรกิจเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

แต่หากเทียบวิกฤติโควิด-19 กับวิกฤติในอดีตที่ผ่านมา ยังมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากในอดีตหนี้ NPL จะมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงมากกว่า 15-19% ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันหนี้ NPL มีอัตราดอกเบี้ย MLR (Minimum Loan Rate) ประมาณ 6.5-7.5% ถือว่าภาวะขณะนี้ดอกเบี้ยไม่แพง ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของกลุ่มประเทศทั่วโลกที่มีสภาพคล่องล้น ดอกเบี้ยจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการเกิดวิกฤติครั้งก่อน ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤติกระทบกับการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะทำให้รายได้ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงเดิม และธนาคารไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น จึงแนะนำ 2 ทางเลือก คือ 1.การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย หรือปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีมาตรการทางการศาลเข้ามาช่วย และ 2.การปรับโครงสร้างหนี้แบบปกติ หรือการเจรจากันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมเจรจากันก่อนจะไปสู่กระบวนการศาล โดยธุรกิจขนาดใหญ่ก็มักจะมอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้เจรจาแทน

แม้ว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก ทั้งการผ่อนผันชำระเงินต้น ผ่อนชำระดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการยืดระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ แต่ลูกหนี้ก็จะต้องกลับมาชำระตามเดิมเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามที่ธนาคารกำหนด

สิ่งสำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะต้องดูว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานมีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใด โดยแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ในเบื้องต้น แนะนำว่าผู้ประกอบการจะต้องทำประมาณการทางการเงิน ดูกระแสเงินสด รายรับ รายจ่าย คงเหลือเท่าไหร่ และสามารถชำระคืนหนี้แก่ธนาคารได้เป็นระยะเวลา 7 ปี 9 ปี หรือไม่ หากมีเพียงพอก็สามารถดำรงธุรกิจไปได้

"ขอให้ลูกหนี้คิดสเตตัสเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในภาวะขณะนี้ไปให้ได้อย่างต่อเนื่อง มันก็จะทำให้ธุรกิจได้รับการดูแลจากสถาบันการเงิน หรือมองหาโอกาสหาแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เช่น การหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยขอเป็นกำลังใจให้ธุรกิจ SME ซึ่งก็มีธุรกิจหลายประเภทที่ยังไปได้ดีอยู่ อย่าง อาหารและเครื่องดื่ม, โลจิสติกส์, เฮลธ์แคร์, เคมีภัณฑ์ทำความสะอาด เพียงแต่ว่าอย่าท้อและตั้งกำลังใจให้ดี และเดินไปข้างหน้าเพื่อให้ธุรกิจของเราอยู่รอดได้ในระยะยาว"นายสมภพ กล่าว

พร้อมกันนี้แนะธุรกิจจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน 1.ควรเตรียมพร้อมเรื่องมาตรฐานบัญชี หรือปรับมาตรฐานบัญชีให้ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันมีการเจรจากันบนมาตรฐานบัญชีหลายชุด อาจส่งผลลบต่อการเจรจาการปรับโครงสร้างหนี้ กับทางธนาคาร สถาบันทางการเงินอื่นๆ หรือเจ้าหนี้อื่นๆ, การหาพันธมิตรร่วมลงทุน ก็จะไม่มีความเชื่อมั่นว่างบการเงินเป็นอย่างไร

2.มองโอกาสเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดทุน เพื่อต่อยอดการใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น การออกหุ้นกู้ เพื่อให้ธุรกิจดำรงอยู่ได้ ไม่ขาดสภาพคล่อง เมื่อเจอกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM กล่าวว่า ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ในยุคนี้จะต้องมีการวางแผน ทั้งแผนในระยะสั้น ระยะกลาง และยาว โดยระยะสั้น ให้จัดทำประมาณการกระแสเงินสดใหม่ ภายใต้ภาวะวิกฤติครั้งนี้จะกระทบกับธุรกิจอย่างไร ลูกค้าที่เคยจ่ายเงินตามกำหนดเวลา มีการเลื่อนชำระมากน้อยแค่ไหน, ทบทวนค่าใช้จ่าย เช่น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น, เลื่อนรายจ่ายที่ใช้วงเงินสูงออกไปก่อน เพื่อรักษาสภาพคล่อง

ส่วนในระยะกลางจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้หรือไม่ และระยะยาว มองแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง เช่น ค่าเช่า เจรจากับทางผู้ให้เช่า เพื่อขอลดค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ เจรจากับเจ้าหนี้สถาบันทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันทางธนาคารก็มีมาตรการช่วยเหลือออกมาค่อนข้างมาก, การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มฐานทุน ลดการพึ่งพิงหนี้สิน หรือลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้อยู่ในระดับที่แข็งแรง ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของธุรกิจ SME

ด้านนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM กล่าวว่า ก่อนผู้ประกอบการไปขอปรับโครงสร้างหนี้ จะต้องประเมินตัวเองและศึกษาตัวเองก่อน เพื่อหาแนวทางของการดำรงอยู่ของกิจการต่อไปในอนาคต รวมถึงหากธุรกิจขาดสภาพคล่อง เจ้าของกิจการจะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ หรือช่วยเหลือตัวเองก่อนไปเจรจากับเจ้าหนี้

"ต้องไปพูดว่าเราทำอะไรบ้าง ถ้าเราไม่มีเงินเราก็ต้องไปพูดว่าเราจัดการอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่เจ้าหนี้อยากฟัง คือ ผู้ประกอบกิจการมีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ไปถึงก็ไปขอลดดอกเบี้ย ขยายเงินต้น ขอลดหนี้ ซึ่งอาจจะไปทำลายให้คนที่เขาตรงไปตรงมาลำบากไปด้วย ขณะเดียวกันก็ทำให้เจ้าหนี้เกิดความระแวง"นายสมศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ