นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.ได้ร่วมประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อหาแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบกิจการยาง สถาบันเกษตรกร หรือผู้ประกอบกิจการของ กยท. โดยผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ มาตรการเรื่องของการลดหย่อนภาษี มาตรการลดหย่อนภาษีนำเข้า กิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การยกเว้นอากรวัตถุดิบเพื่อการวิจัยพัฒนา และการพัฒนามาตรฐานการผลิตต่างๆ เช่น การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับปรุง เพื่อทำมาตรฐาน FSC, GMP, GAP ฯลฯ ตลอดจนการขยายการผลิต ซึ่งสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอได้เช่นกัน ทั้งนี้ แต่ละหลักเกณฑ์ก็จะมีการให้ความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ การส่งเสริมยางพารา กำลังปรับให้มีการพัฒนาจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมาตรการให้การสนับสนุนใหม่ของบีโอไอนี้ เกษตรกรชาวสวนยาง กลุ่มเกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางหรือผู้ประกอบกิจการ SMEs สามารถขอรับการสนับสนุนได้เช่นกัน เพื่อใช้ในการงดเว้นภาษีนิติบุคคล งดเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบเพื่อการส่งออก ซึ่งมีหลายสหกรณ์หรือบริษัทขนาดเล็กที่ไม่เคยทราบถึงสิทธิ์นี้
นายณกรณ์ กล่าวถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมแปรรูปยางของไทยว่า ขณะนี้มีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะถุงมือยาง ซึ่งถือเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนในกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปยางของประเทศไทย เนื่องจากถุงมือยางมีช่วงของการเติบโต (Growth) เพิ่มมากขึ้น จากช่วงก่อนมีการระบาดเชื้อโควิด อยู่ที่ 12-15% ต่อปี แต่ปัจจุบันคาดว่าจะขยับขึ้นไปถึงเท่าตัว (30% ต่อปี) และมีมูลค่าการส่งออกถุงมือยางประมาณ 2.7 หมื่นล้าน/ปี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท/ปี ทั้งนี้ ภาครัฐกำลังหาแนวทางนำน้ำยางข้น ซึ่งมีปริมาณมากในประเทศ ผลักดันเข้าสู่การแปรรรูป ขยายอุตสาหกรรมถุงมือยาง และนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยางมาใช้ให้มากขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม และเพื่อให้อุตสาหกรรมยางของประเทศมีความเข้มแข็งในการเป็นผู้นำการผลิตและการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของโลก